วันเสาร์ที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2551

To Live and Die in L.A. (1985)


To Live and Die in L.A. (1985), ปราบตาย (๒๕๒๘)

     หากกล่าวถึงผู้กำกับที่เก่งกาจในการสร้างสรรค์ภาพยนตร์แนวดราม่าอาชญากรรม-ตำรวจจับผู้ร้าย หนึ่งในจำนวนนั้นก็ควรมีชื่อของ วิลเลียม ฟรีดกิ้น อยู่ด้วย แม้ว่าภาพยนตร์ที่ถูกกล่าวขวัญถึงมากที่สุดของผู้กำกับท่านนี้จะเป็นหนังสยองขวัญระดับตำนานอย่าง The Exorcist (พ.ศ. ๒๕๑๖) แต่ผลงานที่ทำให้เขากลายเป็นยอดผู้กำกับหนังอาชญากรรม คือ The French Connection ภาพยนตร์ที่ออกฉายในปี พ.ศ. ๒๕๑๔ ซึ่งคว้ารางวัลออสการ์ได้ถึง ๕ สาขา โดยกวาด ๓ รางวัลใหญ่อย่างภาพยนตร์ยอดเยี่ยม, ผู้กำกับยอดเยี่ยม และนักแสดงนำชายยอดเยี่ยมที่ส่งให้ ยีน แฮคแมน ขึ้นแท่นเป็นดาราคุณภาพแถวหน้าของฮอลลีวูดมาจนถึงยุคปัจจุบัน และหลังจากนั้น ๑๔ ปี ฟรีดกิ้น ก็หวนคืนสู่การทำหนังแนวแอ็คชั่นอาชญากรรมอีกครั้ง คราวนี้คือผลงานที่มีชื่อว่า To Live and Die in L.A.

     To Live and Die in L.A. มีความใกล้เคียงและคล้ายคลึงกับ The French Connection ในหลายส่วนจนเรียกได้ว่าคงไม่ผิดนักหากจะกล่าวว่า "ปราบตาย" เป็นน้องแท้ๆของ "มือปราบเพชรตัดเพชร" เพราะต่างก็เป็นเรื่องของตำรวจคู่หูที่ออกล่าอาชญากรตัวฉกาจ และตัวละครเอกของเรื่องก็ต่างมีลักษณะ Anti-hero เหมือนกัน คือไม่ใช่พระเอกในอุดมคติ แต่เป็นบุคคลธรรมดาที่มีดีชั่วพอกัน (โดยเฉพาะ L.A. ที่ผู้เขียนเห็นด้านชั่วในตัวเอกมากกว่าด้านดีด้วยซ้ำ) ใช้อารมณ์เหนือเหตุผลให้เห็นบ่อยครั้ง และที่ขาดไม่ได้คือฉากขับรถไล่ล่าอันสุดระทึกใจ ซึ่งเป็นจุดไคลแม็กซ์ที่ฟรีดกิ้นนำมาตอกย้ำความมันส์อีกครั้ง หลังจากที่เคยทำเอาผู้ชมลุ้นจนลืมหายใจมาแล้วในทศวรรษก่อนหน้า

     "ปราบตาย" เป็นเรื่องราวของ ริชาร์ด แชนซ์ (วิลเลี่ยม แอล พีเดอร์เซ่น) ตำรวจสืบราชการลับจอมบ้าระห่ำ ที่ออกไล่ล่า ริค มาสเตอร์ส (วิลเลม ดาโฟ) นักพิมพ์แบงค์ปลอมผู้มีส่วนในการสังหารโหดอดีตคู่หูของเขา โดยมี จอห์น วูโควิช (จอห์น แพนโคว์) ตำรวจอ่อนประสบการณ์มาเป็นคู่หูคนใหม่ในภารกิจนี้ ยิ่งนานเข้า แชนซ์ ก็ยิ่งห่างไกลจากการจับฆาตกรรายนี้มาลงโทษให้ได้เสียทีเนื่องด้วยระบบการทำงานอันย่ำแย่ที่ไม่มีประสิทธิภาพพอที่จะลากตัวอาชญากรตัวเอ้มาเข้าชังเต บวกกับความแค้นที่สุมอยู่จนเต็มอก ทำให้"ผู้พิทักษ์สันติราษฎร์" รายนี้ พร้อมที่จะเล่นนอกกฎเกณฑ์ทุกประการอย่างไม่สนใจความผิดชอบชั่วดี เพื่อลากคอวายร้ายจอมอำมหิตรายนี้มาลงโทษให้ได้ ต่อให้ต้องรับบทผู้ร้ายเสียเองก็ตาม

     ฉากขับรถไล่ล่าอันเป็นจุดไคลแม็กซ์ที่ ฟรีดกิ้น นำกลับมาใช้อีกครั้งตามที่ได้กล่าวถึงไปแล้ว อาจเรียกได้ว่าเป็นหนึ่งในฉากขับรถไล่ล่าที่น่าตื่นเต้นมากที่สุดบนแผ่นฟิล์ม เพราะนอกจากจะกินเวลานานร่วม 10 นาทีแล้ว ก็ยังเพิ่มอุปสรรคเป็นดงกระสุนของเหล่า Antagonists จำนวนมากที่ดาหน้ากันเข้ามาไล่ถล่มพาหนะของสองตัวเอกอย่างน่าตกตะลึง นอกจากนั้นแล้วยังนำเอาเทคนิคที่เคยประสบความสำเร็จในภาพยนตร์สยองขวัญ มาปรับใช้เพื่อสร้างความน่ากลัวให้กับตัวละคร ริค มาสเตอร์ ซึ่งเมื่อผนวกเข้ากับการแสดงของดารายอดฝีมืออย่าง วิลเลม ดาโฟ แล้ว ผลที่ได้คือความน่าสะพรึงที่ติดอยู่ในความทรงจำของผู้ชมแม้จะเสร็จสิ้นจากการรับชมไปแล้วก็ตาม

     องค์ประกอบอื่นๆที่น่าจดจำในภาพยนตร์บู๊ระทึกขวัญเรื่องนี้ ก็ยังมีฉากพิมพ์ธนบัตรปลอมที่นำเสนอให้ชมกันแบบทีละขั้นตอนตั้งแต่ทำแม่พิมพ์จนถึงกระบวนการทำธนบัตรให้ดูเก่าเลยทีเดียว เรียกได้ว่าหากผู้ชมท่านใดมีอุปกรณ์และฝีมือพร้อมก็สามารถทำตามได้เลย (แต่ไม่แนะนำนะครับเพราะผิดกฎหมาย) รวมถึงดนตรีประกอบเร้าอารมณ์ด้วยจังหวะรัวกลองพริ้วไหวหนักแน่นตามสไตล์ป๊อบร็อคแห่งยุค 80 โดยฝีมือของ Wang Chung วงดนตรีจากอังกฤษ ซึ่งฟรีดกิ้นมอบหมายให้เข้ามาทำเพลงประกอบงานชิ้นนี้โดยเฉพาะ

     อย่างไรก็ดี To Live and Die in L.A. กลับไม่ได้รับเสียงตอบรับที่ดีจากผู้ชมนักเมื่อเปิดตัว ทั้งที่มีคุณภาพเข้าขั้นเป็นหนึ่งในผลงานชิ้นโบว์แดงของผู้กำกับมือฉมังรายนี้ ซึ่งสาเหตุเป็นเพราะมีฉากจบที่เหนือความคาดหมายและน่าตกตะลึง ซึ่งแม้ทางสตูดิโอผู้ออกทุนจะได้ขอให้ ฟรีดกิ้น เปลี่ยนตอนจบ และเขาเองก็ได้ถ่ายทำตอนจบแบบใหม่เรียบร้อยแล้ว แต่เมื่อเอามาประกอบดูแล้วพบว่าไม่ใช่คำตอบที่ถูกต้องสำหรับงานชิ้นนี้ จึงต้องจบอย่าง "ไม่เอาใจคนดู" ไปในที่สุด ซึ่งจนถึงปัจจุบันก็มีภาพยนตร์น้อยเรื่องมากที่กล้าสรุปเรื่องเช่นเดียวกับที่ ฟรีดกิ้น ได้ทำไว้

     ความกล้าหาญของฟรีดกิ้น ที่นำเสนอภาพยนตร์แบบในที่ไม่มีใครกล้าทำมาก่อน (หรือถ้ามีก็น้อยมาก) นี้เอง ที่ทำให้ "ปราบตาย" กลายเป็นชิ้นงานที่อยู่เหนือกาลเวลา เพราะยังคงความสดใหม่สำหรับผู้ชมอีกหลายรายซึ่งยังไม่เคยได้สัมผัสกับบทที่ไม่ตามสูตรและไม่เอาใจคนดูเช่นนี้ เนื้อหาของตัวหนังอาจไม่เป็นมิตรต่อผู้ชมที่คุ้นเคยกับสูตร "ธรรมะสู้อธรรม" แต่ก็ถือว่าเป็นประสบการณ์ที่หาได้ยากยิ่งในการรับชมภาพยนตร์สักเรื่อง โดยเฉพาะจากฝั่งฮอลลีวูดเช่นนี้

ไม่มีความคิดเห็น: