วันอังคารที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

The Wrestler (2008), เพื่อเธอขอสู้ยิบตา (๒๕๕๑)


The Wrestler เป็นเรื่องของ โรบิน แรมซินสกี้ ชายวัยกลางคนที่(เคย)โด่งดังในนาม แรนดี้ "เดอะ แรม" โรบินสัน นักมวยปล้ำระดับแชมเปี้ยนในทศวรรษที่ 80 ซึ่งชื่อเสียงและเกียรติยศได้กลายเป็นอดีตไปตามกาลเวลาที่หมุนผ่านไป ปัจจุบัน แรนดี้ ทำงานจัดสินค้าในโกดังซูเปอร์มาร์เก็ต อาศัยอยู่ในบ้านเช่าเล็กๆ มีรถตู้โทรมๆเป็นยานพาหนะ และเป็นที่ซุกหัวนอนเมื่อถูกล็อกประตูบ้านเพราะจ่ายค่าเช่าไม่ทันกำหนด อย่างไรก็ดี มวยปล้ำ เป็นอาชีพที่แรนดี้ยังคงยึดมั่นอยู่ด้วยใจรัก แม้สังขารที่โรยราจะพาให้ระดับหล่นร่วงลงมาเป็นคู่มือของเด็กอ่อนประสบการณ์ตามเวทีเล็กๆที่จัดเฉพาะวันเสาร์-อาทิตย์ ขณะที่เพื่อนร่วมสมัยต่างแยกย้ายไปทำงานด้านอื่นๆกันหมดแล้วก็ตาม

จุดเปลี่ยนครั้งสำคัญก็มาถึงชีวิตของแรนดี้ เมื่อเขาป่วยเป็นโรคหัวใจจากการใช้สารสเตอรอยด์สะสมในร่างกายมากว่า 20 ปี และถูกแพทย์ห้ามไม่ให้ขึ้นเวทีอีก แรนดี้จึงต้องตัดสินใจยุติอาชีพบนสังเวียนผ้าใบอย่างกระทันหัน แม้จะมีนัดพิเศษกับอดีตคู่ปรับ(บนสังเวียน)จ่ออยู่รอมร่อก็ตาม แล้วผันตัวมาทำงานในซูเปอร์มาร์เก็ตเป็นอาชีพหลัก ด้วยหวังที่จะเริ่มต้นชีวิตใหม่กับคนที่เขารัก ไม่ว่าจะเป็นลูกสาวที่เขาทิ้งไปตั้งแต่ยุครุ่งเรือง และนักระบำเปลื้องผ้ารุ่นราวคราวเดียวกัน ซึ่งกำลังอยู่ในช่วงวิกฤตของอาชีพ เนื่องจากเรือนร่างที่โรยราของเธอไม่เป็นที่น่าพิสมัยในสายตาของลูกค้าอีกต่อไปแล้ว

อย่างไรก็ดี ชีวิตจริงนั้นเปรียบเสมือนโลกคู่ขนานกับสังเวียนผ้าใบที่แรนดี้อาศัยอยู่มาตลอด บาดแผลที่ได้รับตามร่างกายจากการปะทะกับคู่ต่อสู้บนสังเวียน เทียบไม่ได้เลยกับความเจ็บปวดและอ้างว้างในชีวิตประจำวัน บนสังเวียน แรนดี้ คือฮีโร่ผู้แข็งแกร่ง ทั้งในสายตาของเพื่อนร่วมอาชีพรุ่นน้องและผู้ชมที่ยังคงติดตาม แต่ในชีวิตจริง เขาเป็นแค่ชายวัยกลางคนที่สายตาฝ้าฟางไปตามอายุ พ่ายแพ้ต่ออาการเจ็บไข้ โดนดูถูกเหยียดหยามจากเจ้าหนี้ และถูกคนรุ่นหลัง(ที่ไม่ใช่แฟนมวยปล้ำ)ปฏิเสธเพราะเป็นที่ฮีโร่ "ตกรุ่น" ไปแล้ว

ความที่แรนดี้ ไม่อาจปรับตัวเข้ากับความว่างเปล่าของชีวิตจริงได้ ทำให้ยังคงหาโอกาสไปร่วมงานที่เกี่ยวข้องกับมวยปล้ำอยู่เสมอ เพื่อให้ได้รู้สึกถึงความสำคัญของตัวเองบ้าง แต่การเป็นแค่ผู้ชมนั้นก็ยังเป็นสิ่งที่ปวดร้าวเกินไป เพราะโลกของเขาอยู่บนเวทีนั้นต่างหาก เนื่องจาก แต่ละคนก็มีโลก มีสังคม มีชีวิตแตกต่างกันไปตามแบบที่ตัวเองต้องการ ดังนั้น โลกของแรนดี้ จึงไม่ใช่โลกของชีวิตจริง ที่เขาเป็นแค่วัตถุโบราณหลงยุค ไม่มีความสำคัญ และไม่เป็นที่ต้องการของคนรุ่นใหม่ๆอีกต่อไปแล้ว แต่โลกของเขา คือมายาบนสังเวียนมวยปล้ำ ที่เขายังคงเป็นฮีโร่ในสายตาของแฟนๆ แม้ว่าความสำคัญของเขาจะเป็นไปตามบทบาทที่ถูกสร้างขึ้น แต่ความเป็นมายานั้นจะสำคัญอย่างไรกัน ในเมื่อมันเป็นสถานที่เดียวที่เขาได้รับการยอมรับ เป็นที่ต้องการ เป็นที่รักและเอาใจช่วยของผู้ชม ขณะที่เขาเองก็พร้อมที่จะตอบแทนกำลังใจของผู้ชมด้วยการแสดงอย่างเต็มที่ ไม่ว่าจะต้องเสี่ยงต่ออุปสรรคร้ายแรงถึงชีวิตก็ตาม

The Wrestler คือผลงานการกำกับภาพยนตร์เรื่องที่ 4 ของ ดาร์เรน อโรนอฟสกี้ ถัดจาด Pi, Requiem for a Dream และ The Fountain ตามลำดับ ความพิเศษของ The Wrestler ที่แหวกแนวไปจากผลงานก่อนหน้านี้ของเขาก็คือการเล่าเรื่องอย่างง่ายไม่ซับซ้อน ไม่จำเป็นต้องอาศัยการตีความด้วยปรัชญา ภาษาหนังเรียกว่าไม่ต้องปีนบันไดดู ผลที่ได้คือความสมจริงของเรื่อง สร้างตัวละครต่างๆให้ผู้ชมรู้สึกว่ามีตัวตนจริงและสัมผัสได้ เข้าถึงเหตุการณ์และความรู้สึกของตัวละครได้อย่างใกล้ชิดด้วยทุนสร้างเพียง 7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ทำให้ภาพยนตร์เรื่องนี้ถูกผลิตออกมาในรูปแบบที่ดิบและดูหยาบในด้านงานสร้างและการถ่ายภาพ โดยภาพที่ออกมาคล้ายกับการถ่ายจากกล้องวิดีโอ มีการสั่นของภาพในบางช่วงที่มีการเคลื่อนไหวที่เร็วของจุดศูนย์กลางภาพ แต่ไม่เป็นปัญหาในการรับชมมากนักเนื่องจากภาพไม่ได้สั่นเสียเป็นส่วนใหญ่แบบ Cloverfield

มิคกี้ รูร์ค สวมบทแรนดี้ ชายขี้แพ้ที่เป็นฮีโร่เฉพาะบนสังเวียนอย่างยอดเยี่ยมและตราตรึงใจ ทั้งในมาดของอดีตนักมวยปล้ำในตำนาน ชายวัยกลางคนที่ปากกัดตีนถีบในฐานะชนชั้นล่างของสังคม และพ่อที่เจ็บปวดกับความไม่ได้เรื่องของตัวเอง ขณะที่ มาริสา โทเม ในบท แคสซิดี้ (ชื่อจริงว่า แพม) ก็ยอดเยี่ยมไม่แพ้กันในบทนางระบำเปลื้องผ้าวัยทองที่กำลังตระหนักถึงการคุกคามของกาลเวลาต่ออาชีพของเธอ นักแสดงหลักอีกคนคือ อีวาน ราเชล วูด ในบทลูกสาวของแรนดี้ ทำได้ดีในการแสดงความเจ็บปวดและอ้างว้างเพราะความเหินห่างจากครอบครัว แม้รายละเอียดของตัวละครของเธอจะไม่มากนัก แต่ก็เป็นส่วนเติมเต็มที่ช่วยให้ผู้ชมเข้าถึงความรู้สึกของ แรนดี้ อย่างสมบูรณ์

น่าเสียดายที่ความเล็กของหนังและเงินทุนที่น้อยนิด ทำให้ตัวหนังและผู้กำกับไม่มีแรงโฆษณาที่มากพอที่จะส่งให้เข้าไปติดอยู่ในรายชื่อผู้ท้าชิงรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมและผู้กำกับยอดเยี่ยมของรางวัลใหญ่อย่างออสการ์ได้ ทั้งๆที่ผลงานออกมาดีและคู่ควรยิ่งกว่าผู้ท้าชิงจริงๆของปี 2009 บางเรื่องและบางคนเสียอีก ขณะที่ มิคกี้ รูร์ค และ มาริสา โทเม ต่างได้รับเกียรติให้เข้าชิงรางวัลนักแสดงนำชายยอดเยี่ยม และนักแสดงสมทบหญิงยอดเยี่ยม ตามลำดับ โดย รูร์ค เป็นตัวเต็งควบคู่มากับ ฌอน เพนน์ ที่ยอดเยี่ยมไม่แพ้กันจาก Milk แต่สุดท้ายเป็น เพนน์ ที่คว้ารางวัลครั้งนี้ไป ส่วน โทเม ที่เคยได้รับรางวัลสาขานี้มาแล้วจาก My Cousin Vinny ในปี 1992 ก็ไม่ใช่ตัวเต็งในครั้งนี้ โดยเป็น เพเนโลเป้ ครูซ จาก Vicky Christina Barcelona ที่พิชิตเกียรติยศไป

The Wrestler เป็นหนังชีวิตล้วนๆที่เข้าถึงง่ายและสร้างอารมณ์ร่วม มีมั้งความเจ็บปวดในชีวิตสังคมภายนอกที่อ้างว้าง และความอบอุ่นกับชีวิตบนสังเวียน ที่แม้พวกเขาจะเป็นศัตรูกันในสายตาคนดูมวยปล้ำ แต่แท้จริงแล้วทุกคนคือเพื่อนที่ช่วยเหลือกันทำงานอย่างมืออาชีพ เพื่อให้ผู้ชมได้รับความบันเทิงสูงสุด และเพื่อรักษาความนิยมให้แก่กันและกัน แล้วจึงมีงานให้ทำเพื่อหาเงินเลี้ยงปากท้องต่อไป

มันนำเสนอภาพมายาคติของโลกคู่ขนานระหว่างมวยปล้ำและโลกแห่งความจริง ดังที่ โลร็องต์ บาร์ต นักปรัชญาชาวฝรั่งเศส เคยได้เขียนบทความว่าด้วยมายาคติของโลกแห่งมวยปล้ำที่เปรียบดังละคร มีเรื่องราว มีวีรบุรุษ มีผู้ร้าย ซึ่งสร้างความบันเทิงและโลกอีกโลกหนึ่งให้กับคนดู แม้ว่าคนดูต่างรู้ว่าสิ่งที่เห็นไม่ใช่ความจริง แต่ทุกคนก็พร้อมที่จะเชื่อเพื่อเข้าสู่โลกใบนั้นอย่างสมบูรณ์ โรบิน แรมซินสกี้ อาจไม่เหลือสิ่งใดเลยในโลกแห่งความเป็นจริง แต่ในโลกแห่งมายาคตินั้น เขาคือ แรนดี้ เดอะ แรม วีรบุรุษคนสำคัญ ที่แฟนมวยปล้ำเดนตายยังคงเชิดชูและติดตามอยู่เสมอไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานแค่ไหน และร่างกายของเขาจะร่วงโรยเพียงใดก็ตาม

ความตายเยี่ยงวีรบุรุษในโลกแห่งมายา ก็อาจจะดีกว่า การอยู่อย่างไร้ค่าในโลกแห่งความจริง