วันอังคารที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

The Wrestler (2008), เพื่อเธอขอสู้ยิบตา (๒๕๕๑)


The Wrestler เป็นเรื่องของ โรบิน แรมซินสกี้ ชายวัยกลางคนที่(เคย)โด่งดังในนาม แรนดี้ "เดอะ แรม" โรบินสัน นักมวยปล้ำระดับแชมเปี้ยนในทศวรรษที่ 80 ซึ่งชื่อเสียงและเกียรติยศได้กลายเป็นอดีตไปตามกาลเวลาที่หมุนผ่านไป ปัจจุบัน แรนดี้ ทำงานจัดสินค้าในโกดังซูเปอร์มาร์เก็ต อาศัยอยู่ในบ้านเช่าเล็กๆ มีรถตู้โทรมๆเป็นยานพาหนะ และเป็นที่ซุกหัวนอนเมื่อถูกล็อกประตูบ้านเพราะจ่ายค่าเช่าไม่ทันกำหนด อย่างไรก็ดี มวยปล้ำ เป็นอาชีพที่แรนดี้ยังคงยึดมั่นอยู่ด้วยใจรัก แม้สังขารที่โรยราจะพาให้ระดับหล่นร่วงลงมาเป็นคู่มือของเด็กอ่อนประสบการณ์ตามเวทีเล็กๆที่จัดเฉพาะวันเสาร์-อาทิตย์ ขณะที่เพื่อนร่วมสมัยต่างแยกย้ายไปทำงานด้านอื่นๆกันหมดแล้วก็ตาม

จุดเปลี่ยนครั้งสำคัญก็มาถึงชีวิตของแรนดี้ เมื่อเขาป่วยเป็นโรคหัวใจจากการใช้สารสเตอรอยด์สะสมในร่างกายมากว่า 20 ปี และถูกแพทย์ห้ามไม่ให้ขึ้นเวทีอีก แรนดี้จึงต้องตัดสินใจยุติอาชีพบนสังเวียนผ้าใบอย่างกระทันหัน แม้จะมีนัดพิเศษกับอดีตคู่ปรับ(บนสังเวียน)จ่ออยู่รอมร่อก็ตาม แล้วผันตัวมาทำงานในซูเปอร์มาร์เก็ตเป็นอาชีพหลัก ด้วยหวังที่จะเริ่มต้นชีวิตใหม่กับคนที่เขารัก ไม่ว่าจะเป็นลูกสาวที่เขาทิ้งไปตั้งแต่ยุครุ่งเรือง และนักระบำเปลื้องผ้ารุ่นราวคราวเดียวกัน ซึ่งกำลังอยู่ในช่วงวิกฤตของอาชีพ เนื่องจากเรือนร่างที่โรยราของเธอไม่เป็นที่น่าพิสมัยในสายตาของลูกค้าอีกต่อไปแล้ว

อย่างไรก็ดี ชีวิตจริงนั้นเปรียบเสมือนโลกคู่ขนานกับสังเวียนผ้าใบที่แรนดี้อาศัยอยู่มาตลอด บาดแผลที่ได้รับตามร่างกายจากการปะทะกับคู่ต่อสู้บนสังเวียน เทียบไม่ได้เลยกับความเจ็บปวดและอ้างว้างในชีวิตประจำวัน บนสังเวียน แรนดี้ คือฮีโร่ผู้แข็งแกร่ง ทั้งในสายตาของเพื่อนร่วมอาชีพรุ่นน้องและผู้ชมที่ยังคงติดตาม แต่ในชีวิตจริง เขาเป็นแค่ชายวัยกลางคนที่สายตาฝ้าฟางไปตามอายุ พ่ายแพ้ต่ออาการเจ็บไข้ โดนดูถูกเหยียดหยามจากเจ้าหนี้ และถูกคนรุ่นหลัง(ที่ไม่ใช่แฟนมวยปล้ำ)ปฏิเสธเพราะเป็นที่ฮีโร่ "ตกรุ่น" ไปแล้ว

ความที่แรนดี้ ไม่อาจปรับตัวเข้ากับความว่างเปล่าของชีวิตจริงได้ ทำให้ยังคงหาโอกาสไปร่วมงานที่เกี่ยวข้องกับมวยปล้ำอยู่เสมอ เพื่อให้ได้รู้สึกถึงความสำคัญของตัวเองบ้าง แต่การเป็นแค่ผู้ชมนั้นก็ยังเป็นสิ่งที่ปวดร้าวเกินไป เพราะโลกของเขาอยู่บนเวทีนั้นต่างหาก เนื่องจาก แต่ละคนก็มีโลก มีสังคม มีชีวิตแตกต่างกันไปตามแบบที่ตัวเองต้องการ ดังนั้น โลกของแรนดี้ จึงไม่ใช่โลกของชีวิตจริง ที่เขาเป็นแค่วัตถุโบราณหลงยุค ไม่มีความสำคัญ และไม่เป็นที่ต้องการของคนรุ่นใหม่ๆอีกต่อไปแล้ว แต่โลกของเขา คือมายาบนสังเวียนมวยปล้ำ ที่เขายังคงเป็นฮีโร่ในสายตาของแฟนๆ แม้ว่าความสำคัญของเขาจะเป็นไปตามบทบาทที่ถูกสร้างขึ้น แต่ความเป็นมายานั้นจะสำคัญอย่างไรกัน ในเมื่อมันเป็นสถานที่เดียวที่เขาได้รับการยอมรับ เป็นที่ต้องการ เป็นที่รักและเอาใจช่วยของผู้ชม ขณะที่เขาเองก็พร้อมที่จะตอบแทนกำลังใจของผู้ชมด้วยการแสดงอย่างเต็มที่ ไม่ว่าจะต้องเสี่ยงต่ออุปสรรคร้ายแรงถึงชีวิตก็ตาม

The Wrestler คือผลงานการกำกับภาพยนตร์เรื่องที่ 4 ของ ดาร์เรน อโรนอฟสกี้ ถัดจาด Pi, Requiem for a Dream และ The Fountain ตามลำดับ ความพิเศษของ The Wrestler ที่แหวกแนวไปจากผลงานก่อนหน้านี้ของเขาก็คือการเล่าเรื่องอย่างง่ายไม่ซับซ้อน ไม่จำเป็นต้องอาศัยการตีความด้วยปรัชญา ภาษาหนังเรียกว่าไม่ต้องปีนบันไดดู ผลที่ได้คือความสมจริงของเรื่อง สร้างตัวละครต่างๆให้ผู้ชมรู้สึกว่ามีตัวตนจริงและสัมผัสได้ เข้าถึงเหตุการณ์และความรู้สึกของตัวละครได้อย่างใกล้ชิดด้วยทุนสร้างเพียง 7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ทำให้ภาพยนตร์เรื่องนี้ถูกผลิตออกมาในรูปแบบที่ดิบและดูหยาบในด้านงานสร้างและการถ่ายภาพ โดยภาพที่ออกมาคล้ายกับการถ่ายจากกล้องวิดีโอ มีการสั่นของภาพในบางช่วงที่มีการเคลื่อนไหวที่เร็วของจุดศูนย์กลางภาพ แต่ไม่เป็นปัญหาในการรับชมมากนักเนื่องจากภาพไม่ได้สั่นเสียเป็นส่วนใหญ่แบบ Cloverfield

มิคกี้ รูร์ค สวมบทแรนดี้ ชายขี้แพ้ที่เป็นฮีโร่เฉพาะบนสังเวียนอย่างยอดเยี่ยมและตราตรึงใจ ทั้งในมาดของอดีตนักมวยปล้ำในตำนาน ชายวัยกลางคนที่ปากกัดตีนถีบในฐานะชนชั้นล่างของสังคม และพ่อที่เจ็บปวดกับความไม่ได้เรื่องของตัวเอง ขณะที่ มาริสา โทเม ในบท แคสซิดี้ (ชื่อจริงว่า แพม) ก็ยอดเยี่ยมไม่แพ้กันในบทนางระบำเปลื้องผ้าวัยทองที่กำลังตระหนักถึงการคุกคามของกาลเวลาต่ออาชีพของเธอ นักแสดงหลักอีกคนคือ อีวาน ราเชล วูด ในบทลูกสาวของแรนดี้ ทำได้ดีในการแสดงความเจ็บปวดและอ้างว้างเพราะความเหินห่างจากครอบครัว แม้รายละเอียดของตัวละครของเธอจะไม่มากนัก แต่ก็เป็นส่วนเติมเต็มที่ช่วยให้ผู้ชมเข้าถึงความรู้สึกของ แรนดี้ อย่างสมบูรณ์

น่าเสียดายที่ความเล็กของหนังและเงินทุนที่น้อยนิด ทำให้ตัวหนังและผู้กำกับไม่มีแรงโฆษณาที่มากพอที่จะส่งให้เข้าไปติดอยู่ในรายชื่อผู้ท้าชิงรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมและผู้กำกับยอดเยี่ยมของรางวัลใหญ่อย่างออสการ์ได้ ทั้งๆที่ผลงานออกมาดีและคู่ควรยิ่งกว่าผู้ท้าชิงจริงๆของปี 2009 บางเรื่องและบางคนเสียอีก ขณะที่ มิคกี้ รูร์ค และ มาริสา โทเม ต่างได้รับเกียรติให้เข้าชิงรางวัลนักแสดงนำชายยอดเยี่ยม และนักแสดงสมทบหญิงยอดเยี่ยม ตามลำดับ โดย รูร์ค เป็นตัวเต็งควบคู่มากับ ฌอน เพนน์ ที่ยอดเยี่ยมไม่แพ้กันจาก Milk แต่สุดท้ายเป็น เพนน์ ที่คว้ารางวัลครั้งนี้ไป ส่วน โทเม ที่เคยได้รับรางวัลสาขานี้มาแล้วจาก My Cousin Vinny ในปี 1992 ก็ไม่ใช่ตัวเต็งในครั้งนี้ โดยเป็น เพเนโลเป้ ครูซ จาก Vicky Christina Barcelona ที่พิชิตเกียรติยศไป

The Wrestler เป็นหนังชีวิตล้วนๆที่เข้าถึงง่ายและสร้างอารมณ์ร่วม มีมั้งความเจ็บปวดในชีวิตสังคมภายนอกที่อ้างว้าง และความอบอุ่นกับชีวิตบนสังเวียน ที่แม้พวกเขาจะเป็นศัตรูกันในสายตาคนดูมวยปล้ำ แต่แท้จริงแล้วทุกคนคือเพื่อนที่ช่วยเหลือกันทำงานอย่างมืออาชีพ เพื่อให้ผู้ชมได้รับความบันเทิงสูงสุด และเพื่อรักษาความนิยมให้แก่กันและกัน แล้วจึงมีงานให้ทำเพื่อหาเงินเลี้ยงปากท้องต่อไป

มันนำเสนอภาพมายาคติของโลกคู่ขนานระหว่างมวยปล้ำและโลกแห่งความจริง ดังที่ โลร็องต์ บาร์ต นักปรัชญาชาวฝรั่งเศส เคยได้เขียนบทความว่าด้วยมายาคติของโลกแห่งมวยปล้ำที่เปรียบดังละคร มีเรื่องราว มีวีรบุรุษ มีผู้ร้าย ซึ่งสร้างความบันเทิงและโลกอีกโลกหนึ่งให้กับคนดู แม้ว่าคนดูต่างรู้ว่าสิ่งที่เห็นไม่ใช่ความจริง แต่ทุกคนก็พร้อมที่จะเชื่อเพื่อเข้าสู่โลกใบนั้นอย่างสมบูรณ์ โรบิน แรมซินสกี้ อาจไม่เหลือสิ่งใดเลยในโลกแห่งความเป็นจริง แต่ในโลกแห่งมายาคตินั้น เขาคือ แรนดี้ เดอะ แรม วีรบุรุษคนสำคัญ ที่แฟนมวยปล้ำเดนตายยังคงเชิดชูและติดตามอยู่เสมอไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานแค่ไหน และร่างกายของเขาจะร่วงโรยเพียงใดก็ตาม

ความตายเยี่ยงวีรบุรุษในโลกแห่งมายา ก็อาจจะดีกว่า การอยู่อย่างไร้ค่าในโลกแห่งความจริง

วันพฤหัสบดีที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2552

เกี่ยวกับ สติ๊กเกอร์ชนิดหนึ่ง ซึ่งทำทีเหมือนจะแจกฟรี แต่ดันเรียกเก็บตังค์ซะงั้น

บ่ายโมงหน้าโรงภาพยนตร์สยามวันหนึ่ง ผมเห็นวัยรุ่นผู้หญิงสองคนกำลังควักกระเป๋าตังค์ส่งให้หญิงวัยกลางคนเพื่อแลกกับสติ๊กเกอร์ 1 แผ่น (สติ๊กเกอร์อะไรขอละไว้นะครับ) หน้าตาน้องเขาไม่ค่อยเต็มใจเท่าไรแต่ก็ต้องจ่ายเงินให้อย่างเสียมิได้เพราะรับมาในมือแล้ว

ผมเลยนึกถึงตัวเองสมัยยังอายุพอๆกับน้องคนนั้น (ย้อนไปไม่นานมากหรอก ฮิฮิ) ก็เคยเจอเรื่องคล้ายๆกันแบบนั้นเหมือนกัน เนื่องจากผมมักจะช่วยหยิบกระดาษโฆษณาต่างๆ เพื่อช่วยให้คนที่มายืนแจก แจกให้หมดๆไปจะได้มีรายได้ หรือกลับบ้านเร็วขึ้น แต่วันนั้นผมหยิบสติ๊กเกอร์ลักษณะนี้จากป้าคนหนึ่ง แล้วป้าก็บอกราคาที่ผมต้องจ่าย ผมจำไม่ได้ว่ามัน 20, 40 หรือ 50 รู้แต่มันแพงมากสำหรับสติ๊กเกอร์ใบเดียว แต่ด้วยความรู้สึกตามที่จะกล่าวถึงต่อไปนี้จึงทำให้ผมยอมจ่ายทั้งที่เสียดายเงิน เพราะผมไม่ได้ตั้งใจจะซื้อเลย

โอเค คุณอาจจะบอกว่านี่ไม่ได้บังคับซื้อนะ จะไม่เอา ส่งคืนคนที่ยืนขายก็ได้ แต่ด้วยแรงศรัทธาอันกล้าแกร่งในใจ ที่มีต่ออะไรในสติ๊กเกอร์นั้น ก็ย่อมจะทำให้บุคคลที่รับสติ๊กเกอร์เข้ามาไว้ในมือ ไม่อาจจะปล่อยมือไปจากสติ๊กเกอร์นั้นเพื่อส่งคืนได้ จนต้องจ่ายเงินตามราคาที่ผู้ขาย (ที่ทีแรกทำตัวเหมือนยืนแจกฟรี)

(หรืออาจเป็นความเชื่อที่ถูกปลูกฝังมานานนม ว่าการปฏิเสธสิ่งนั้นคือบาปกรรม ทำให้ไม่กล้าปฏิเสธ)

ผมสังเกตุเห็นหญิงวัยกลางคนรายนั้นแต่งตัวด้วยชุดโปโลชนิดที่สถานที่ทำงานหลายๆแห่งมักจะบังคับให้พนักงานสวมใส่ในวันนี้ๆนั้นๆ ซึ่งทำให้เชื่อว่าถ้าไม่แอบอ้างก็คงจะมาจากมูลนิธิอะไรสักแห่ง จึงสงสัยว่าทำไมเขาไม่ตั้งโต๊ะนั่งขายให้ดูเหมือนว่ามาขายของจริงๆเพื่อให้คนอื่นรู้ว่าต้องจ่ายเงินแลกถ้าจะเอาของ ไม่ใช่มายืนทำทีเหมือนให้คนที่ไม่รู้เข้าใจผิดว่าแจกฟรี แต่สุดท้ายก็ทวงราคา เหมือนเล่นกับความรู้สึกคน ทั้งความศรัทธา และความกลัวต่อผิดชอบชั่วดีตามความเชื่อที่ถูกปลูกฝัง

หรือกลัวว่าถ้าตั้งโต๊ะขายจะไม่มีคนซื้อ แสดงให้เห็นว่าจริงๆพวกตอแหลชน ดัดจริตชน ที่พากันซาบซึ้ง...ซาบซึ้งกันตามหน้ากระทู้เว็บบอร์ดต่างๆ แท้จริงมันก็แค่พวกพีอาร์ปั่นกระแส ไม่ได้มีใครซาบซึ้งขนาดไล่ตามทุกอย่างเหมือนที่โปรโมต ดูตามร้านหนังสือซิ หนังสือหนังหาทั้งหลายที่เกี่ยวกับ"สิ่งเหล่านั้น" ยังคงอยู่เป็นมิ่งเป็นขวัญให้ร้านไม่มีหดหายแทบทุกเล่ม หนังสือพวกนี้ผมว่าถ้าเปลี่ยนวิถีขายมาขายแบบยัดใส่มือแล้วทวงเงินเหมือนขายสติ๊กเกอร์บ้างสิ รับรองหมด

ผมเชื่อว่าความรู้สึกสิ้นเปลือง เสียดายเงินมันไม่ได้อยู่ที่จำนวนเงินที่เสีย แต่อยู่ที่ความเต็มใจของเราที่จะจ่าย ผมไม่เสียดายเงินที่จะซื้อดีวีดีราคาหลักร้อยหรือหลักพัน หรือตุ๊กตาชุดผ้าตัวละครึ่งหมื่นที่ผมอยากได้ แต่อะไรที่ผมไม่ได้อยากได้ แต่ต้องจ่ายเพราะความรู้สึกผิดชอบชั่วดีอะไรก็ตาม ต่อให้จ่ายแค่สองบาท สิบบาท ก็น่าเสียดายเป็นอย่างยิ่ง

บารัค โอบาม่า อาศัยสีผิวตัวเองโปรโมตหรือเปล่า


ผมสงสัยเกี่ยวกับประธานาธิบดีคนปัจจุบันของสหรัฐอเมริกา นายบารัค โอบาม่า เพราะสังเกตุพบว่าหมอนี่เป็นที่ฟีเวอร์มากผิดปกติ และกระแสของเขาที่โปรโมต พูดถึง และพบเห็น ส่วนใหญ่ไม่เกี่ยวกับการงานเลย แต่มักจะเป็นเรื่องส่วนตัว เรื่องวัยเด็ก วัยเรียน ครอบครัว และภรรยาผู้ชอบปรากฎกายให้สื่อมวลชนได้ชักภาพในงานต่างๆ

นิตยสารโดยเฉพาะแนวคุณหญิงคุณนาย เซเลบริตี้ คนดัง หรือดาราฮอลลิวูด ก็มักจะลงภาพและเนื้อหาเกี่ยวกับเขาและเธอบ่อยๆ โดยเฉพาะยัยป้ามิเชล ล่าสุดมีนิตยสารแนวผู้หญิงและการบ้านการเรือน ลงเรื่องราวความรักของบารัคและมิเชล เนื้อหาประมาณว่ามิเชลเธอรักสามีเพราะเป็นคนดี คนซื่อสัตย์ ฯลฯ

ผมเลยรู้สึกว่าเฮ้ยนี่มันมุขเสนอตัวแบบเดียวกับปชป. ยุคนี้เลยนี่หว่า เพราะเมื่อไม่นานมานี้นายกรณ์ จาติกวณิช ก็เคยไปลงหนังสือแนวหญิงๆ พูดเรื่องครอบครัว ความรัก ยกเอาเรื่องเมียแม่ม่ายของตัวเองมาล่อซื้อแฟนคลับในเว็บบอร์ดดังให้กรี๊ดกร๊าดน้ำตาซึมตามฟอร์มไปแล้ว หรือก่อนหน้านั้นก็มีการนำเสนอลูกสาวหัวหน้าพรรคที่เพิ่งจะสอบเข้ามหาวิทยาลัย(ที่คิดว่าตัวเองเป็นอันดับ 1 ของประเทศ) ซึ่งทั้งหมดเป็นการเอาประเด็นที่ไม่เกี่ยวกับการเมือง การทำงานมาโฆษณาตัวเองเลย ทั้งๆที่ตัวเองเป็นนักการเมือง แต่กลับหันมาใช้การโปรโมตล่อซื้อพวกบ้าดารา บ้ากระแส (ก็ผลงานมันไม่มีจะมาขายนี่หว่า)

เกิดความสงสัยขึ้นมาว่าถ้าโอบาม่าเป็นคนขาวจะได้รับความนิยมจนเป็นกระแสคลั่งไคล้ได้เท่านี้ไหม เขาจะเอาชีวิตวัยเด็กอันไหนมาเล่า เขาจะเอาคอนเซ็ปต์ส่วนตัวอะไรมาตั้งชื่อว่า "การเปลี่ยนแปลง" ส่วนมิเชลถ้าเป็นคนขาวแต่งตัวเปรี้ยว ชอบออกงานต่างๆ จะได้รับความสนใจสักแค่ไหน หรือจะถูกโจมตีในเรื่องการแต่งตัวและการทำตัวให้เป็นประโยชน์ สองคนนี้จะถูกเอาไปลงหนังสือแนวเซเลบต่างๆถี่ขนาดนี้หรือเปล่า หรือแม้กระทั่งว่านายบารัคจะเลือกตั้งภายในชนะฮิลลารี่หรือเปล่าถ้าเขาเป็นคนขาว

ลองมองย้อนกลับไปหาพวกประธานาธิบดีก่อนหน้านี้ซึ่งเป็นคนขาว แทบไม่เคยเห็นพวกเขาเคยโผล่ไปตามหนังสือคุณหญิงคุณนาย เซเลบริตี้ทั้งหลาย แม้กระทั่งช่วงที่เพิ่งจะนะเลือกตั้งใหม่ๆกระแสยังดีอยู่ ก็ไม่ได้เป็นที่ฟีเวอร์ระบาดข้ามวงการเช่นนี้ เจ๊ฮิลลารี่ถือเป็นสตรีหมายเลข 1 ที่มีบทบาทมากคนหนึ่งไม่ว่าจะด้านการเมืองหรือการบ้าน ยิ่งตอนที่สามีอย่างตาบิลมีข่าวเล่นชู้ ผมก็ยังไม่เห็นว่าหนังสือหญิงๆเซเลบจะให้ความสำคัญมากเท่าการทำสวยของยัยป้ามิเชล

นั่นแหละจึงเกิดเป็นความคิดขึ้นมาว่านายและนางโอบาม่าขึ้นมาถึงจุดนี้ได้เพราะเรื่องสีผิวหรือไม่ เอาสีผิวเป็นจุดขายหลัก ส่วนอเมริกันชนที่ต่างเทคะแนนให้บารัคนั้น ส่วนหนึ่งอาจเกิดจากความเบื่อหน่ายบุชและรีพับลิกัน แต่อีกหลายส่วนผมเชื่อว่ามาจากความคิดที่คล้ายกับจะพยายามบอกว่า "นี่หมดยุคเหยียดผิวแล้วนะเฟ้ย" แต่หารู้ไม่แรงจูงใจในการเลือกโอบาม่าถูกผลักดันมาจากการให้ความสำคัญด้านสีผิวเหมือนเดิม แค่เปลี่ยนจาก "ไม่เลือกคนดำ" เป็น "เลือกเพราะเป็นคนดำ อยากให้โอกาสคนดำ" ซึ่งมันก็เข้าข่าย Racism อยู่ดี เพราะให้ความสำคัญกับสีผิวเชื้อชาติมากกว่าสาระอื่นๆ ผมเห็นว่าการด่าหรือโจมตีนายและนางโอบาม่าค่อนข้างเป็นเรื่องละเอียดอ่อนในอเมริกา แม้แต่ใครที่บอกว่ายัยป้ามิเชลไม่สวยก็ถูกหาว่าเป็นพวกเหยียดผิวซะแล้ว ซึ่งกระแสนี้มันสะท้อนว่าแฟนคลับโอบาม่า ทั้งดำและขาว ค่อนข้างให้ความสำคัญกับเรื่องสีผิวจริงๆ ราวกับว่าพวกเขาได้หลอมจนกลายเป็นสังคมของคนดำที่ค่อนข้างจะอ่อนไหวกับเรื่องสีผิว เป็นพวกเชื้อชาติ เผ่าพันธุ์ สีผิวนิยม ที่ค่อนข้างหัวรุนแรง

จริงอยู่ที่อเมริกันชนส่วนใหญ่ผิวขาว และตามที่ผมได้กล่าวไปคือส่วนหนึ่งเลือกโอบาม่าเพราะต้องการเลือกเดโมแครต เนื่องจากเบื่อบุชและรีพับลิกัน ซึ่งการเลือกตั้งปธน.อเมริกาครั้งล่าสุดนี้เรียกได้ว่ายังไงๆเดโมแครตก็ชนะอยู่แล้ว (แม้แต่ลุงแม็คเคนก็น่าจะรู้ตัวเองดี)

แต่ถ้าตัวแทนของเดโมแครตเป็นคนขาวล่ะจะมีแรงเห่อถล่มทลายเท่านี้หรือไม่ ถ้าเป็นฮิลลารี่ผมเชื่อว่าอาจได้คะแนนเสียงถล่มทลายด้วยความที่อเมริกันชนจะแสดงออกว่า "หญิงชายเท่าเทียมกัน" แต่ความที่เป็นคนขาวจะได้แรงเห่อมากเท่านี้หรือเปล่า ถึงขนาดได้ตีพิมพ์ลงหนังสือการ์ตูนสไปเดอร์แมน ปรากฎตัวในนิตยสารเซเลบริตี้บันเทิงต่างๆ มีการนำเสนอชีวิตส่วนตัวอย่างมาก ฯลฯ

หรือถ้าโอบาม่าเป็นคนขาวล่ะจะมีจุดขายอะไรที่จะเอาชนะฮิลลารี่ผู้มีจุดขายเรื่อง "พลังหญิง" เข้ามาเป็นตัวแทนพรรค

หลายส่วนของคะแนนเสียงและแรงเห่อที่โอบาม่าได้ ผมเชื่อว่ามาจากความคิดที่คล้ายกับจะพยายามบอกว่า "นี่หมดยุคเหยียดผิวแล้วนะเฟ้ย" โดยเฉพาะคนผิวขาวซึ่งมีชนักติดหลังมาอย่างยาวนานเกี่ยวกับการเหยียดผิว คนขาวจึงเข้าสู่กระแสโอบาม่าฟีเวอร์ด้วยต้องการพิสูจน์ตัวเองว่า "เฮ้ยฉันเลือกโอบาม่านะ ฉันให้โอกาสคนดำนะ ฉันไม่เหยียดผิวแล้วนะ"

แต่หารู้ไม่แรงจูงใจในการเลือกโอบาม่าถูกผลักดันมาจากการให้ความสำคัญด้านสีผิวเหมือนเดิม แค่เปลี่ยนจาก "ไม่เลือกคนดำ" เป็น "เลือกเพราะเป็นคนดำ อยากให้โอกาสคนดำ" ซึ่งมันก็เข้าข่าย Racism อยู่ดี ด้วยการให้ความสำคัญกับเชื้อชาติมากกว่าผลงาน

และในจุดนี้โอบาม่าจึงเอามาเน้นย้ำจุดขายให้กับตัวเอง...

วันพุธที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

V for Vendetta (2005), เพชฌฆาตหน้ากากพญายม (๒๕๔๗)



เมื่อ 4 ปีที่แล้วผมเคยดูหนังเรื่องนี้มาแล้ว 1 รอบ แต่ไม่ประทับใจนักเนื่องจากยังอ่อนเดียงสาทางการเมือง (แม้จะเริ่มสนใจแล้ว) ทำให้ไม่สามารถเข้าถึงสาระของตัวหนังได้ แต่มาครั้งนี้ที่ผมตาเปิดและมองเห็นอะไรต่างๆกว้างขึ้น ทำให้สามารถซึมซับแก่นสารของภาพยนตร์เรื่องนี้ได้มากขึ้น มีทั้งความสะใจและสะเทือนใจในเวลาเดียวกัน อย่างไรก็ดี การปฏิวัติโดยประชาชนในหนังช่างเป็นอะไรที่อยู่ในอุดมคติเหลือเกิน ส่วนตัวคิดว่าง่ายดายและเพ้อฝันไปหน่อยเนื่องจากผู้นำเผด็จการที่ไหนจะครองอำนาจได้นานขนาดนั้นโดยไม่ได้ทำการประชาสัมพันธ์ตัวเองเพื่อแทรกเข้าไปอยู่ในจิตใจของประชาชนเลย เนื่องจากในความเป็นจริงแล้ว การปฏิวัติโดยประชาชนนั้น อุปสรรคไม่ได้อยู่ที่กระบอกปืนของทหาร แต่อยู่ที่การมีทัศนคติในการเปลี่ยนแปลงร่วมกันหรือไม่ต่างหาก

V for Vendetta สร้างจากนิยายภาพที่แต่งโดย อลัน มัวร์ และวาดภาพประกอบโดย เดวิด ลอยด์ โดยได้รับแรงบันดาลใจจากนวนิยายอมตะอย่าง 1984 ของจอร์จ ออร์เวลล์ และถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์ในปี ๒๕๔๗ ภายใต้การกำกับของ เจมส์ แม็คทีก อย่างไรก็ดี อลัน มัวร์ ไม่ประสงค์มีชื่ออยู่ในเครดิตผู้แต่งบทดั้งเดิม เนื่องจากตัวเขาไม่เห็นด้วยกับการนำเอางานของเขามาสร้างเป็นภาพยนตร์นับตั้งแต่ความผิดหวังใน The League of Extraordinary Gentlemen ฉบับภาพยนตร์เมื่อปี ๒๕๔๕ ทำให้เครดิตผู้แต่งบทดั้งเดิมของ V for Vendetta ปรากฎเพียงชื่อของ เดวิด ลอยด์ เพียงรายเดียว (เช่นเดียวกับ Watchmen ผลงานชิ้นเอกของมัวร์ ที่ในฉบับภาพยนตร์นั้นปรากฎชื่อของ เดฟ กิ๊บบอนส์ ในฐานะผู้แต่งนิยายภาพเพียงคนเดียวเท่านั้น)

เรื่องราวของ V for Vendetta อยู่ในประเทศอังกฤษ ค.ศ 2038 ที่ถูกปกครองโดยฝ่ายขวาจัดนำโดยผู้นำชื่อ อดัม ซัทเลอร์ ซึ่งก้าวสู่อำนาจจากการชนะเลือกตั้งอย่างถล่มทลาย รัฐบาลของซัทเลอร์ทำการจัดระเบียบสังคมอย่างเข้มงวดในเชิงอนุรักษ์นิยม มีการใช้กำลังกำจัดศัตรูทางการเมือง รวมถึงกลุ่มที่ถูกมองว่า"เป็นภัยต่อศีลธรรมอันดีงาม" มีการควบคุมและบิดเบือนสื่อให้เป็นกระบอกเสียงของรัฐบาล มีผู้หลักผู้ใหญ่ที่ได้รับความเคารพจากสังคมเป็นสมาชิกพรรคที่เป็นเสมือนเสาค้ำอำนาจ มีการออกกฎหมายควบคุมพฤติกรรมประชาชนโดยอ้างถึงความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน มีการบิดเบือนและปิดบังประวัติศาสตร์ และที่เด็ดสุดคือ มีการแขวนรูปของซัทเลอร์ไว้บนผนังของทุกบ้าน เวลาผ่านเลยไปจนประชาชนเริ่มจะไม่รู้ร้อนรู้หนาวกับการเมืองน้ำเน่าจนกระทั่งการปรากฎตัวของ V ผู้สวมหน้ากาก กาย ฟอว์คส์ ที่ออกมาท้าทายอำนาจรัฐ และจุดดวงไฟแห่งเสรีภาพและสิทธิมนุษยชนขึ้นมาอีกครั้ง

ภาพยนตร์เรื่องนี้มีแนวโน้มเอียงไปทางดราม่าปรัชญาการเมืองมากกว่าจะเป็นซูเปอร์ฮีโร่ที่ออกมาต่อสู้แบบขจัดคนพาลอภิบาลคนดี เพราะท่าน V ผู้นี้หาได้ทำเพื่อคุณธรรมค้ำจุนโลกใดๆไม่ แต่ทำเพื่อทวงคืนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และเรียกร้องให้ผู้อื่นได้เบิกตาสำรวจศักดิ์ศรีของตนเอง การต่อสู้ของ V ถูกรัฐบาลประณามว่าเป็นผู้ก่อการร้าย ผู้สร้างความแตกแยก ผู้ทำร้ายสังคม ฯลฯ แต่อย่างไรก็ไม่อาจบิดเบือนจิตสำนึกของความเป็นมนุษย์ภายในตัวประชาชนไปได้... จุดนี้นี่เองที่ผมคิดว่าเป็นอะไรที่อุดมคติ และเป็นความโชคดีอย่างเหลือแสนจริงๆของ V ที่มีประชาชนที่"หูตาสว่าง"เป็นอย่างยิ่ง เช่นนี้ และน่าสงสัยเหลือเกินว่าทีมประชาสัมพันธ์ของซัทเลอร์ทำงานกันยังไง ถึงไม่สามารถนำเอาท่านผู้นำซึ่งดำรงตำแหน่งมาอย่างยาวนานและวางรากฐานต่างๆในการยึดเก้าอี้ไว้ได้มากพอสมควรแล้ว เข้าสู่ใจของประชาชนได้ ซึ่งหากคุณลองมองโลกของความเป็นจริงจะพบว่า ผู้นำเผด็จการที่ครองตำแหน่งมาอย่างยาวนานของทุกประเทศในโลก ล้วนทำการประชาสัมพันธ์อย่างแข็งขันจนสามารถครองใจผู้คนได้ "ความจงรักภักดี คือสิ่งที่จำเป็นสำหรับผู้นำเผด็จการ" จึงเป็นเรื่องน่าสงสัยว่า ซัทเลอร์ อยู่ในตำแหน่งมานานขนาดนั้นได้อย่างไรเมื่อตนไม่สามารถครองความจงรักภักดีจากประชาชนได้ หนำซ้ำยังกลายเป็นที่ขบขันของชาวบ้านชาวช่องเมื่อถูกนำไปล้อเลียนในโทรทัศน์ ซึ่งหากเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นในประเทศเผด็จการบนโลกแห่งความจริงล่ะก็ เชื่อว่าจะมีโทรทัศน์ถูกทุบทิ้งนับล้านเครื่อง และมีการบุกเผาทำลายสถานีโทรทัศน์แห่งนั้นอย่างแน่นอน (ฮิฮิฮิ)

นึกย้อนเวลากลับไปหาตัวเองเมื่อครั้งยังอ่อนเดียงสาและชมภาพยนตร์เรื่องนี้ครั้งแรกก็ได้แต่นึกสมเพช เพราะเมื่อครั้งนั้นผมได้ใช้ความพยายามทั้งหมดทั้งปวงในการจับประเด็นการก้าวสู่อำนาจของซัทเลอร์ ด้วยการชนะเลือกตั้งอย่างถล่มทลายเป็นฐานการสนับสนุนจากประชาชน ด้วยหูตาอันมืดบอดทำให้ไม่อาจมองเห็นพฤติกรรมอันเป็นเผด็จการที่หนังได้ตีแผ่ออกมาอย่างเสร็จสรรพและเข้าใจง่ายไม่ต้องปีนบันได ราวกับว่าป้อนเข้าปากแล้วแต่ทำเป็นดื้อไม่ยอมกิน อย่างไรอย่างนั้น จริงอยู่ผู้นำเผด็จการบางรายอาจขึ้นสู่อำนาจได้ด้วยการเลือกตั้ง แต่ประเด็นสำคัญของเผด็จการไม่ได้อยู่ที่การชนะเลือกตั้งอย่างถล่มทลายเลย แต่มันอยู่ที่การอ้างเอาความดีงามทั้งหลายทั้งปวงมาสร้างฐานอำนาจให้ตนเองอยู่เหนือบุคคลทั่วไปจนถึงขั้นไม่อาจแตะต้องได้ ป่าวประกาศความดีงามของตนเพื่อเรียกร้องความจงรักภักดีจากประชาชนโดยห้ามตั้งข้อสงสัยเป็นเครื่องตอบแทน ใช้สื่อมวลชนเป็นกระบอกเสียงในการประชาสัมพันธ์ตัวเอง มีข้อหา"กบฎผู้ไม่จงรักภักดี" ไว้โจมตีฝ่ายตรงข้ามและกันท่าสังคมจากความสงสัยในชนชั้นปกครอง ใช้กำลังเข้าปราบปรามประชาชนที่ต้องการเรียกร้องศักดิ์ศรีแล้วบิดเบือนข่าวไปเป็นการยกย่องเจ้าหน้าที่"ผู้ปฏิบัติหน้าที่เยี่ยงวีรบุรุษเพื่อปราบปรามผู้ไม่หวังดีต่อบ้านเมือง" รวมถึงบิดเบือนประวัติศาสตร์ด้วยหวังโหมกระพือความดีงามของตนเพื่อเรียกร้องความจงรักภักดีเป็นสิ่งตอบแทน พร้อมทั้งยังกลบเกลื่อนให้ผู้คนหลงลืมวันแห่งการประกาศอิสรภาพ วันแห่งศักดิ์ศรีที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นของประชาชนไป

แม้จะมีตัวละครที่ค่อนไปทางแฟนตาซีอย่าง V แต่เขาคือสัญลักษณ์ของทุกสิ่งทุกอย่างที่"ความเป็นเผด็จการผู้อ้างอิงศีลธรรมอันดีงาม" ได้พรากไปจากสังคม ดังนั้น V for Vendetta จึงเป็นภาพยนตร์ทรงคุณค่าในเชิงการเมือง ไม่ใช่ภาพยนตร์บู๊สนั่นเพื่อความบันเทิงแต่อย่างใดเลย อย่างไรก็ดี สำหรับประเทศที่อยู่ภายใต้ระบอบเผด็จการทั้งที่รู้ตัวหรือไม่ก็ตาม ภาพยนตร์เรื่องนี้คือบททดสอบความตาสว่างชั้นดี ว่ายังคงยึดติดกับความดีงามที่ถูกฉาบติดกันไว้ด้วยแรงประชาสัมพันธ์ เพื่อก่อตัวเป็นโล่ห์พรางกายพร้อมทั้งยังเป็นนิทรรศการสำหรับเรียกร้องความจงรักภักดี จนกระทั่งมองภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นแค่ 2 ชั่วโมงที่กล่าวถึงเรื่องไกลตัวอันแสนน่าเบื่อ หรืออาจเพียงนำเอาประเด็นยิบย่อยไปจับผิดบุคคลตัวเล็กๆที่ไม่นิยม แต่หากว่าดวงตาได้เบิกกว้างและมองเห็นความเป็นมาและความ"ควรจะ"เป็นไปอันแท้จริงแล้ว ภาพยนตร์เรื่อง V for Vendetta จะเป็นกระจกสะท้อนภาพของเรื่องใกล้ตัวที่พบเห็นทุกเมื่อเชื่อวัน ที่จะทำให้ "ซาบซึ้ง" และอิจฉาชาวอังกฤษ(ในเรื่อง)ที่พร้อมใจกันตาสว่างอย่างแท้จริง

วันอังคารที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2552

นั่งว่างๆแปลเพลงดีกว่า: Sometimes When We Touch

Sometimes When We Touch บางครั้งที่เราสัมผัส

You ask me if I love you ถามว่ารักเธอไหม
And I choke on my reply ทำเอาสำลักคำตอบเลยแหละ
I'd rather hurt you honestly เพราะฉันขอทำเธอเจ็บปวด
Than mislead you with a lie ดีกว่าโกหกให้เข้าใจผิด
And who am I to judge you แล้วฉันมันเป็นใครกันวะ
On what you say or do? จะมาตัดสินสิ่งที่เธอพูดหรือทำ
I'm only just beginning to see the real you ตอนนี้ฉันยังเพิ่งเริ่มต้นรู้จักตัวจริงของเธอเท่านั้นเอง

And sometimes when we touch และบางครั้งที่เราสัมผัส
The honesty's too much ความจริงในใจมันก็เอ่อล้น
And I have to close my eyes and hide จนต้องหลับตาไว้ไม่ให้เห็น
I wanna hold you til I die อยากกอดเธอไว้จนวันตาย
Til we both break down and cry จนเราสองโศกเศร้าร้องไห้
I wanna hold you till the fear in me subsides อยากกอดเธอไว้จนความกลัวของฉันจางหาย

Romance and all its strategy ความรักและกลอุบายของมัน
Leaves me battling with my pride ทิ้งให้ฉันห้ำหั่นกับศักดิ์ศรีตัวเอง
But through the insecurity แต่ท่ามกลางความไม่มั่นคงนั้น
Some tenderness survives ยังมีความอ่อนโยนเหลืออยู่
I'm just another writer ฉันมันแค่นักเขียนคนหนึ่ง
Still trapped within my truth ที่ยังยึดมั่นในความเป็นจริง
A hesitant prize fighter เป็นนักสู้จอมโลเลใจ
Still trapped within my youth ที่ยังไม่ยอมโตเป็นผู้ใหญ่ซะที

And sometimes when we touch และบางครั้งที่เราสัมผัส
The honesty's too much ความจริงใจมันก็เอ่อล้น
And I have to close my eyes and hide จนต้องหลับตาไว้ไม่ให้เห็น
I wanna hold you til I die อยากกอดเธอไว้จนวันตาย
Til we both break down and cry จนเราสองโศกเศร้าร้องไห้
I wanna hold you till the fear in me subsides อยากกอดเธอไว้จนความกลัวของฉันจางหาย

At times I'd like to break you บางครั้งก็อยากขัดใจเธอ
And drive you to your knees ให้เธอต้องคุกเข่าอ้อนวอน
At times I'd like to break through บางครั้งก็อยากฝ่าฟันทุกสิ่ง
And hold you endlessly เพื่อได้กอดเธอตลอดไป

At times I understand you บางครั้งก็เข้าใจเธอ
And I know how hard you've tried รับรู้ว่าเธอพยายามมามากแค่ไหน
I've watched while love commands you เคยเห็นความรักหมุนรอบเธอ
And I've watched love pass you by และเคยเห็นความรักจากเธอไป

At times I think we're drifters บางครั้งฉันคิดว่าเราล่องลอย
Still searching for a friend ยังคงตามหาเพื่อนสักคน
A brother or a sister จะพี่ชายหรือน้องสาวสักคน
But then the passion flares again แต่ความปรารถนาก็ลุกโชนอีกครั้ง

And sometimes when we touch และบางครั้งที่เราสัมผัส
The honesty's too much ความจริงใจมันก็เอ่อล้น
And I have to close my eyes and hide จนต้องหลับตาไว้ไม่ให้เห็น
I wanna hold you til I die อยากกอดเธอไว้จนวันตาย
Til we both break down and cry จนเราสองโศกเศร้าร้องไห้
I wanna hold you till the fear in me subsides อยากกอดเธอไว้จนความกลัวของฉันจางหาย