วันพุธที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

V for Vendetta (2005), เพชฌฆาตหน้ากากพญายม (๒๕๔๗)



เมื่อ 4 ปีที่แล้วผมเคยดูหนังเรื่องนี้มาแล้ว 1 รอบ แต่ไม่ประทับใจนักเนื่องจากยังอ่อนเดียงสาทางการเมือง (แม้จะเริ่มสนใจแล้ว) ทำให้ไม่สามารถเข้าถึงสาระของตัวหนังได้ แต่มาครั้งนี้ที่ผมตาเปิดและมองเห็นอะไรต่างๆกว้างขึ้น ทำให้สามารถซึมซับแก่นสารของภาพยนตร์เรื่องนี้ได้มากขึ้น มีทั้งความสะใจและสะเทือนใจในเวลาเดียวกัน อย่างไรก็ดี การปฏิวัติโดยประชาชนในหนังช่างเป็นอะไรที่อยู่ในอุดมคติเหลือเกิน ส่วนตัวคิดว่าง่ายดายและเพ้อฝันไปหน่อยเนื่องจากผู้นำเผด็จการที่ไหนจะครองอำนาจได้นานขนาดนั้นโดยไม่ได้ทำการประชาสัมพันธ์ตัวเองเพื่อแทรกเข้าไปอยู่ในจิตใจของประชาชนเลย เนื่องจากในความเป็นจริงแล้ว การปฏิวัติโดยประชาชนนั้น อุปสรรคไม่ได้อยู่ที่กระบอกปืนของทหาร แต่อยู่ที่การมีทัศนคติในการเปลี่ยนแปลงร่วมกันหรือไม่ต่างหาก

V for Vendetta สร้างจากนิยายภาพที่แต่งโดย อลัน มัวร์ และวาดภาพประกอบโดย เดวิด ลอยด์ โดยได้รับแรงบันดาลใจจากนวนิยายอมตะอย่าง 1984 ของจอร์จ ออร์เวลล์ และถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์ในปี ๒๕๔๗ ภายใต้การกำกับของ เจมส์ แม็คทีก อย่างไรก็ดี อลัน มัวร์ ไม่ประสงค์มีชื่ออยู่ในเครดิตผู้แต่งบทดั้งเดิม เนื่องจากตัวเขาไม่เห็นด้วยกับการนำเอางานของเขามาสร้างเป็นภาพยนตร์นับตั้งแต่ความผิดหวังใน The League of Extraordinary Gentlemen ฉบับภาพยนตร์เมื่อปี ๒๕๔๕ ทำให้เครดิตผู้แต่งบทดั้งเดิมของ V for Vendetta ปรากฎเพียงชื่อของ เดวิด ลอยด์ เพียงรายเดียว (เช่นเดียวกับ Watchmen ผลงานชิ้นเอกของมัวร์ ที่ในฉบับภาพยนตร์นั้นปรากฎชื่อของ เดฟ กิ๊บบอนส์ ในฐานะผู้แต่งนิยายภาพเพียงคนเดียวเท่านั้น)

เรื่องราวของ V for Vendetta อยู่ในประเทศอังกฤษ ค.ศ 2038 ที่ถูกปกครองโดยฝ่ายขวาจัดนำโดยผู้นำชื่อ อดัม ซัทเลอร์ ซึ่งก้าวสู่อำนาจจากการชนะเลือกตั้งอย่างถล่มทลาย รัฐบาลของซัทเลอร์ทำการจัดระเบียบสังคมอย่างเข้มงวดในเชิงอนุรักษ์นิยม มีการใช้กำลังกำจัดศัตรูทางการเมือง รวมถึงกลุ่มที่ถูกมองว่า"เป็นภัยต่อศีลธรรมอันดีงาม" มีการควบคุมและบิดเบือนสื่อให้เป็นกระบอกเสียงของรัฐบาล มีผู้หลักผู้ใหญ่ที่ได้รับความเคารพจากสังคมเป็นสมาชิกพรรคที่เป็นเสมือนเสาค้ำอำนาจ มีการออกกฎหมายควบคุมพฤติกรรมประชาชนโดยอ้างถึงความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน มีการบิดเบือนและปิดบังประวัติศาสตร์ และที่เด็ดสุดคือ มีการแขวนรูปของซัทเลอร์ไว้บนผนังของทุกบ้าน เวลาผ่านเลยไปจนประชาชนเริ่มจะไม่รู้ร้อนรู้หนาวกับการเมืองน้ำเน่าจนกระทั่งการปรากฎตัวของ V ผู้สวมหน้ากาก กาย ฟอว์คส์ ที่ออกมาท้าทายอำนาจรัฐ และจุดดวงไฟแห่งเสรีภาพและสิทธิมนุษยชนขึ้นมาอีกครั้ง

ภาพยนตร์เรื่องนี้มีแนวโน้มเอียงไปทางดราม่าปรัชญาการเมืองมากกว่าจะเป็นซูเปอร์ฮีโร่ที่ออกมาต่อสู้แบบขจัดคนพาลอภิบาลคนดี เพราะท่าน V ผู้นี้หาได้ทำเพื่อคุณธรรมค้ำจุนโลกใดๆไม่ แต่ทำเพื่อทวงคืนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และเรียกร้องให้ผู้อื่นได้เบิกตาสำรวจศักดิ์ศรีของตนเอง การต่อสู้ของ V ถูกรัฐบาลประณามว่าเป็นผู้ก่อการร้าย ผู้สร้างความแตกแยก ผู้ทำร้ายสังคม ฯลฯ แต่อย่างไรก็ไม่อาจบิดเบือนจิตสำนึกของความเป็นมนุษย์ภายในตัวประชาชนไปได้... จุดนี้นี่เองที่ผมคิดว่าเป็นอะไรที่อุดมคติ และเป็นความโชคดีอย่างเหลือแสนจริงๆของ V ที่มีประชาชนที่"หูตาสว่าง"เป็นอย่างยิ่ง เช่นนี้ และน่าสงสัยเหลือเกินว่าทีมประชาสัมพันธ์ของซัทเลอร์ทำงานกันยังไง ถึงไม่สามารถนำเอาท่านผู้นำซึ่งดำรงตำแหน่งมาอย่างยาวนานและวางรากฐานต่างๆในการยึดเก้าอี้ไว้ได้มากพอสมควรแล้ว เข้าสู่ใจของประชาชนได้ ซึ่งหากคุณลองมองโลกของความเป็นจริงจะพบว่า ผู้นำเผด็จการที่ครองตำแหน่งมาอย่างยาวนานของทุกประเทศในโลก ล้วนทำการประชาสัมพันธ์อย่างแข็งขันจนสามารถครองใจผู้คนได้ "ความจงรักภักดี คือสิ่งที่จำเป็นสำหรับผู้นำเผด็จการ" จึงเป็นเรื่องน่าสงสัยว่า ซัทเลอร์ อยู่ในตำแหน่งมานานขนาดนั้นได้อย่างไรเมื่อตนไม่สามารถครองความจงรักภักดีจากประชาชนได้ หนำซ้ำยังกลายเป็นที่ขบขันของชาวบ้านชาวช่องเมื่อถูกนำไปล้อเลียนในโทรทัศน์ ซึ่งหากเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นในประเทศเผด็จการบนโลกแห่งความจริงล่ะก็ เชื่อว่าจะมีโทรทัศน์ถูกทุบทิ้งนับล้านเครื่อง และมีการบุกเผาทำลายสถานีโทรทัศน์แห่งนั้นอย่างแน่นอน (ฮิฮิฮิ)

นึกย้อนเวลากลับไปหาตัวเองเมื่อครั้งยังอ่อนเดียงสาและชมภาพยนตร์เรื่องนี้ครั้งแรกก็ได้แต่นึกสมเพช เพราะเมื่อครั้งนั้นผมได้ใช้ความพยายามทั้งหมดทั้งปวงในการจับประเด็นการก้าวสู่อำนาจของซัทเลอร์ ด้วยการชนะเลือกตั้งอย่างถล่มทลายเป็นฐานการสนับสนุนจากประชาชน ด้วยหูตาอันมืดบอดทำให้ไม่อาจมองเห็นพฤติกรรมอันเป็นเผด็จการที่หนังได้ตีแผ่ออกมาอย่างเสร็จสรรพและเข้าใจง่ายไม่ต้องปีนบันได ราวกับว่าป้อนเข้าปากแล้วแต่ทำเป็นดื้อไม่ยอมกิน อย่างไรอย่างนั้น จริงอยู่ผู้นำเผด็จการบางรายอาจขึ้นสู่อำนาจได้ด้วยการเลือกตั้ง แต่ประเด็นสำคัญของเผด็จการไม่ได้อยู่ที่การชนะเลือกตั้งอย่างถล่มทลายเลย แต่มันอยู่ที่การอ้างเอาความดีงามทั้งหลายทั้งปวงมาสร้างฐานอำนาจให้ตนเองอยู่เหนือบุคคลทั่วไปจนถึงขั้นไม่อาจแตะต้องได้ ป่าวประกาศความดีงามของตนเพื่อเรียกร้องความจงรักภักดีจากประชาชนโดยห้ามตั้งข้อสงสัยเป็นเครื่องตอบแทน ใช้สื่อมวลชนเป็นกระบอกเสียงในการประชาสัมพันธ์ตัวเอง มีข้อหา"กบฎผู้ไม่จงรักภักดี" ไว้โจมตีฝ่ายตรงข้ามและกันท่าสังคมจากความสงสัยในชนชั้นปกครอง ใช้กำลังเข้าปราบปรามประชาชนที่ต้องการเรียกร้องศักดิ์ศรีแล้วบิดเบือนข่าวไปเป็นการยกย่องเจ้าหน้าที่"ผู้ปฏิบัติหน้าที่เยี่ยงวีรบุรุษเพื่อปราบปรามผู้ไม่หวังดีต่อบ้านเมือง" รวมถึงบิดเบือนประวัติศาสตร์ด้วยหวังโหมกระพือความดีงามของตนเพื่อเรียกร้องความจงรักภักดีเป็นสิ่งตอบแทน พร้อมทั้งยังกลบเกลื่อนให้ผู้คนหลงลืมวันแห่งการประกาศอิสรภาพ วันแห่งศักดิ์ศรีที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นของประชาชนไป

แม้จะมีตัวละครที่ค่อนไปทางแฟนตาซีอย่าง V แต่เขาคือสัญลักษณ์ของทุกสิ่งทุกอย่างที่"ความเป็นเผด็จการผู้อ้างอิงศีลธรรมอันดีงาม" ได้พรากไปจากสังคม ดังนั้น V for Vendetta จึงเป็นภาพยนตร์ทรงคุณค่าในเชิงการเมือง ไม่ใช่ภาพยนตร์บู๊สนั่นเพื่อความบันเทิงแต่อย่างใดเลย อย่างไรก็ดี สำหรับประเทศที่อยู่ภายใต้ระบอบเผด็จการทั้งที่รู้ตัวหรือไม่ก็ตาม ภาพยนตร์เรื่องนี้คือบททดสอบความตาสว่างชั้นดี ว่ายังคงยึดติดกับความดีงามที่ถูกฉาบติดกันไว้ด้วยแรงประชาสัมพันธ์ เพื่อก่อตัวเป็นโล่ห์พรางกายพร้อมทั้งยังเป็นนิทรรศการสำหรับเรียกร้องความจงรักภักดี จนกระทั่งมองภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นแค่ 2 ชั่วโมงที่กล่าวถึงเรื่องไกลตัวอันแสนน่าเบื่อ หรืออาจเพียงนำเอาประเด็นยิบย่อยไปจับผิดบุคคลตัวเล็กๆที่ไม่นิยม แต่หากว่าดวงตาได้เบิกกว้างและมองเห็นความเป็นมาและความ"ควรจะ"เป็นไปอันแท้จริงแล้ว ภาพยนตร์เรื่อง V for Vendetta จะเป็นกระจกสะท้อนภาพของเรื่องใกล้ตัวที่พบเห็นทุกเมื่อเชื่อวัน ที่จะทำให้ "ซาบซึ้ง" และอิจฉาชาวอังกฤษ(ในเรื่อง)ที่พร้อมใจกันตาสว่างอย่างแท้จริง