วันอังคารที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2551

Chariots of Fire (1981)

Chariots of Fire (1981), เกียรติยศแห่งชัยชนะ (๒๕๒๔)

หมายเหตุ บทความชิ้นนี้เป็นการบันทึกงานเขียนที่เผยแพร่ในคอลัมน์ "เรื่องเด่นต่างแดน" ของเว็บไซต์ล้มโต๊ะดอทคอม ตามลิ้งค์ด้านล่าง ด้วยความที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับภาพยนตร์โดยตรงจึงนำมาบันทึกไว้ในบล็อกนี้เช่นกัน



     เป็นที่ยอมรับโดยทั่วกันว่า มหกรรมกีฬาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกคือ โอลิมปิกเกมส์ ด้วยตำนานการชิงชัยที่มีมาอย่างยาวนานตั้งแต่ยุคกรีกโบราณ จนมาถึงโอลิมปิกสมัยใหม่ที่มีอายุเกือบ 150 ปีเข้าไปแล้ว โดยครั้งล่าสุดที่กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน เป็นเจ้าภาพเมื่อช่วงกลางปีที่ผ่านมานั้น มีการชิงชัยรวมทั้งหมด 302 รายการจาก 28 ชนิดกีฬา และมีนักกีฬาเข้าร่วมแข่งขันถึง 11,028 ชีวิตจาก 204 ประเทศ และมียอดผู้ชมทั่วโลกสูงถึง 4.7 พันล้านคน ความขลังของเวทีโอลิมปิกเช่นนี้เอง ทำให้มันเป็นความใฝ่ฝันสูงสุดของนักกีฬาทุกคน ที่จะได้โอกาสแสดงความสามารถให้โลกได้ชื่นชม

     และนอกเหนือจากการพิชิตเหรียญรางวัลอันทรงเกียรติแล้ว สิ่งทียิ่งใหญ่และน่าประทับใจไม่แพ้กันคือการแสดงให้โลกเห็นถึงศักดิ์ศรีแห่งเลือดนักสู้ และน้ำใจของนักกีฬา รวมถึงการต่อสู้นอกสนาม ที่กว่าจะมาถึงวันแห่งชัยชนะแล้ว นักกีฬาทุกคนก็ต้องเจอบททดสอบจิตใจจากอุปสรรคต่างๆนานามาด้วยกันทั้งสิ้น

     ย้อนกลับไปเมื่อปี 1924 สองยอดลมกรดของทีมสหราชอาณาจักร ได้สร้างตำนานแห่งการพิสูจน์ตัวเองบนลู่วิ่งในโอลิมปิกฤดูร้อน ซึ่งจัดที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส สองวีรบุรุษแห่งแดนผู้ดีในครั้งนั้นมีนามว่า แฮโรลด์ อับราฮัมส์ เจ้าของเหรียญทองประเภท 100 เมตร กับ เอริค ลิดเดลล์ ผู้พิชิตเหรียญทองประเภท 400 เมตร

     57 ปีต่อมา ตำนานของยอดนักวิ่งทั้งสอง ได้ถูกถ่ายทอดเป็นภาพยนตร์ และกลายมาเป็นอีกหนึ่งตำนานของโลกเซลลูลอยด์ ด้วยเกียรติยศระดับรางวัลออสการ์ สาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยม ภายใต้ชื่อว่า Chariots of Fire

     ภาพยนตร์ที่มีชื่อภาษาไทยว่า "เกียรติยศแห่งชัยชนะ" เป็นผลงานกำกับของ ฮิวจ์ ฮัดสัน ผู้กำกับชาวอังกฤษ ที่เล่าเรื่องราวเกี่ยวกับแรงบันดาลใจของทั้ง อับราฮัมส์ และ ลิดเดลล์ ซึ่งต่างต้องการพิชิตโลกด้วยฝีเท้าของตน โดยไม่หวังเกียรติยศชื่อเสียงเงินทองใดๆ แต่ต้องการพิสูจน์ความสามารถของตัวเองให้โลกได้รับรู้ และจารึกชื่อว่าเป็นมนุษย์ที่เร็วที่สุดในยุคสมัยของตนเองไปตลอดกาล

     แฮโรลด์ อับราฮัมส์ (รับบทโดย เบน ครอสส์) นักวิ่งชาวอังกฤษเชื้อสายยิว ที่กำลังศักษาในคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยแคมบริดจ์ หวังที่จะใช้พรสวรรค์ส่วนตัวของเขาคือการวิ่งระยะสั้น ปลดแอกตัวเองจากกระแสเกลียดชังชาวยิว ที่กำลังลุกลามอยู่ทั่วยุโรปในช่วงนั้น ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่อยู่ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 1 และสงครามโลกครั้งที่ 2

     แม้จะต้องขัดแย้งกับผู้บริหารมหาวิทยาลัย เพราะการจ้างเทรนเนอร์มืออาชีพอย่าง แซม มุสซาบินี่ มาช่วยฝึกซ้อมเพื่อพิชิตโอลิมปิกนั้น ผิดธรรมเนียมปฏิบัติของนักกีฬาสมัครเล่นในยุคนั้น แต่ อับราฮัมส์ ก็ไม่สนใจ และมุ่งมั่นฝึกฝนต่อไป เพราะสำหรับเขาแล้ว การคว้าเหรียญทองโอลิมปิกนั้นไม่ใช่การทำเพื่อแสวงหาชื่อเสียง แต่ทำเพื่อที่จะพิสูจน์คุณค่าของคน ว่าอยู่ที่ความสามารถ และแรงอุตสาหะ หาใช่ชาติกำเนิดไม่

     ทางด้าน เอริค ลิดเดลล์ (เอียน ชาร์ลสัน) ยอดนักกีฬาจากสก็อตแลนด์ผู้เคร่งครัดในคริสตศาสนา ที่มีพรสวรรค์มากมายไม่ว่าจะเป็นคริกเกต, รักบี้ และที่ดีที่สุดคือการวิ่ง ซึ่งเขาเชื่อว่าเป็นพรสวรรค์ที่พระเจ้าประทานให้ และชัยชนะทุกครั้งของเขาคือการพิสูจน์ศรัทธาที่มีต่อพระผู้เป็นเจ้า

     แต่ ลิดเดลล์ เองก็ต้องฟันฝ่าอุปสรรคต่างๆนานาเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นความเคร่งครัดในศาสนาของทางครอบครัว ที่ไม่เห็นด้วยนักกับการทุ่มเทให้กับกีฬาของเขา รวมถึงความเคร่งครัดของเขาเอง ที่ยืนกรานจะไม่ลงแข่งในวันอาทิตย์ ซึ่งเป็นวันสปาโต ที่คริสต์ศาสนนิกชนต้องหยุดทำงานและเข้าโบสถ์เพื่อสวดมนต์ ซึ่งทำให้เขาต้องถอนตัวออกจากการวิ่ง 100 เมตรในโอลิมปิก 1924 เพราะแข่งตรงกับวันอาทิตย์นั่นเอง

     แต่ด้วยความมุ่งมั่นและศรัทธาในพรสวรรค์อันได้รับจากพระผู้เป็นเจ้า ทำให้ ลิดเดลล์ ลงแข่งวิ่ง 400 เมตรด้วยความมั่นใจ และสามารถคว้าเหรียญทองพร้อมทำลายสถิติโลกในเวลานั้นได้อย่างที่ไม่มีใครคาดคิดว่ายอดลมกรดสก็อตติชที่เก่งในทางระยะสั้นนั้น จะประสบความสำเร็จในการวิ่งระยะที่ยาวขึ้นถึง 4 เท่าตัวได้ถึงระดับนี้

     Chariots of Fire อาจจัดว่าเป็นภาพยนตร์เกี่ยวกับกีฬาโอลิมปิก แต่เนื้อแท้ของงานชิ้นนี้คือการนำเสนอเรื่องราวของการพิสูจน์ตน มากกว่าการเอาชนะคู่ต่อสู้ในเกมกีฬา ดังนั้นภาพยนตร์เรื่องนี้จึงว่าด้วยการเดินทางของตัวเอกสู่เป้าหมาย โดยที่ไม่มีอุปสรรคเป็นตัวร้ายที่คอยแย่งชิงชัยชนะ แต่อุปสรรคอยู่ในจิตใจของตัวเองที่จะอุทิศตนเพื่อสู้ให้ถึงที่สุดหรือไม่ ภาพของน้ำใจนักกีฬาจึงถูกถ่ายทอดออกมาได้อย่างสมบูรณ์แบบ เพราะไม่มีความเป็นศัตรูหรือคู่แข่งเลยในระหว่างนักวิ่งด้วยกัน

     ภาพยนตร์เรื่องนี้ยังมีฉากหลังที่ถ่ายทำอย่างประณีตสวยงามทั้งบรรยากาศในอังกฤษและสก็อตแลนด์ รวมถึงฉากการแข่งโอลิมปิก ที่เก็บรายละเอียดทุกอย่างของกีฬาแห่งมวลมนุษยชาติเมื่อเกือบ 100 ปีก่อนได้อย่างน่าประทับใจ เป็นบทบันทึกประวัติศาสตร์ที่ควรค่าแก่การศึกษาและจดจำ

     นอกจากนั้นแล้ว องค์ประกอบอีกอย่างที่กลายเป็นอมตะไปพร้อมกับตัวหนัง ก็คือดนตรีประกอบ ซึ่งเป็นผลงานของ แวนเจลิส นักประพันธ์ดนตรีชาวกรีก ซึ่งช่วยขับเน้นให้ตัวหนังทรงพลังด้วยความมุ่งมั่น และความศรัทธาในพรสวรรค์ของตัวละครออกมาได้อย่างสมบูรณ์แบบ

     สำหรับเกียรติยศสูงสุดของภาพยนตร์ชิ้นนี้ ก็คือการชนะรางวัล อคาเดมี อวอร์ดส์ (ออสการ์) ประจำปี 1981 ได้ถึง 4 สาขาด้วยกัน ได้แก่ ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม, ดนตรีประกอบยอดเยี่ยม, บทดั้งเดิมยอดเยี่ยม และออกแบบเครื่องแต่งกายยอดเยี่ยม รวมถึงยังเข้าชิงอีก 3 สาขา ได้แก่ ผู้กำกับยอดเยี่ยม, นักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยม (เอียน โฮล์ม ในบท มุสซาบินี่) และ ตัดต่อภาพยอดเยี่ยม

     Chariots of Fire จึงเป็นภาพยนตร์ที่แสดงภาพของกีฬาที่ยิ่งใหญ่กว่าการเอาชนะคู่แข่งในสนาม หรือ การแสวงหาชื่อเสียงเงินทอง แต่เป็นการพิสูจน์ความสามารถของตนเองให้โลกได้รับรู้ และการเอาชนะต่ออุปสรรคต่างๆนานาเพื่อจุดหมายที่ใฝ่ฝันนั้น คือเกียรติยศแห่งชัยชนะอันแท้จริง

     นี่คือภาพยนตร์เกี่ยวกับกีฬาโอลิมปิก ที่มีเนื้อหามากกว่าการกีฬา และมีคุณค่ามากกว่าเป็นแค่ภาพยนตร์เพื่อความบันเทิงเท่านั้น แต่เป็นงานที่สร้างแรงบันดาลใจให้ทุกคนที่ได้รับชม และเป็นบทบันทึกประวัติศาสตร์ชิ้นเยี่ยม ที่ไม่มีวันเลือนหายไปกับกาลเวลา คงอยู่เป็นมรดกบนแผ่นฟิล์มไปตราบนานเท่านาน

*****

วันจันทร์ที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551

Victory (1981)

Victory (1981), เตะแหลกแล้วแหกค่าย (๒๕๒๔)


หมายเหตุ บทความชิ้นนี้เป็นการบันทึกงานเขียนที่เผยแพร่ในคอลัมน์ "เรื่องเด่นต่างแดน" ของเว็บไซต์ล้มโต๊ะดอทคอม ตามลิ้งค์ด้านล่าง ด้วยความที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับภาพยนตร์โดยตรงจึงนำมาบันทึกไว้ในบล็อกนี้เช่นกัน


ก่อนอื่นต้องขอเกริ่นนำว่าผู้เขียนมีความเบื่อหน่ายในกีฬาฟุตบอลอย่างมากถึงมากที่สุด เพราะนอกจากงานที่ทำประจำวันจะเป็นการทำข่าวฟุตบอลแล้ว เมื่อถึงเวลาพักก็มักเจอกระแสคลั่งบอลเข้ามาให้พบเห็นผ่านสื่อวิทยุโทรทัศน์และอินเตอร์เน็ต ดังนั้นแล้วบทความนี้จึงไม่เกี่ยวกับโลกฟุตบอลโดยตรงนัก เนื่องจากความเบื่อหน่ายนั้นจึงรู้สึกพะอืดพะอมยิ่งนักที่จะแสดงความคิดเห็น หรือนำเสนอชีวิตของนักฟุตบอล ที่พูดกันแต่เรื่องชีวิตส่วนตัวและงานรับจ้างเตะลูกหนังสูบลมเข้าช่องประตู 

ผู้เขียนจึงเลือกที่จะนำเสนอสิ่งที่เป็นแรงบันดาลใจในชีวิตที่มีคุณค่ามากกว่าความบันเทิง นั่นคือวรรณกรรมและภาพยนตร์ ซึ่งเชื่อว่ามีผู้อ่านหลายคนที่สนใจในงานเหล่านี้ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าการชมและเชียร์ฟุตบอล(แบบติดปลายนวม) แต่อาจมีจำนวนไม่น้อยที่จำกัดการเสพงานจำพวกนี้จนเกินไป หรือกระทั่งมองข้ามงานจำพวกนี้ไปอย่างน่าเสียดาย

อย่างไรก็ดีเพื่อให้เข้ากับบรรยากาศของเว็บไซต์ที่เป็นเรื่องฟุตบอลทั้งหมด จึงต้องขอขึ้นต้นด้วยภาพยนตร์ที่มีความเกี่ยวข้องกับฟุตบอล ก่อนที่จะ"เนียน"ไปหาแนวอื่นๆ และงานประเภทอื่นๆในอนาคต 

หากกล่าวถึงภาพยนตร์ที่มีความเกี่ยวข้องกับกีฬาฟุตบอล เชื่อว่าเกือบร้อยทั้งร้อยจะนึกถึงเรื่อง Goal! ที่ว่าด้วยการผจญภัยบนถนนลูกหนังของเจ้าหนุ่มซานติอาโก้ ที่เริ่มจากนักเตะบ้านนอกไปเป็นหนึ่งในดาราแข้งทองของยุโรป ฯลฯ

แต่บทความนี้จะไม่เกี่ยวกับ Goal! หรอก เนื่องจากเชื่อว่าผู้อ่านรู้จักกันดีอยู่แล้วเนื่องด้วยเป็นภาพยนตร์ร่วมสมัย จะป่วยการเขียนไปก็ใช่ที่ นอกจากนั้นแล้วด้วยเนื้อหาที่มีแต่เรื่องของฟุตบอล และชีวิตฟุ้งเฟ้อของเหล่าเซเลบริตี้ใส่สตั๊ดทั้งหลายแหล่ ซึ่งล้วนทำให้ผู้เขียนสะอิดสะเอียนยิ่งนัก จึงขอหลีกหนีไปเสียให้ไกลเสียดีกว่า 

*****

ภาพยนตร์ที่จะกล่าวถึงต่อไปนี้ที่มีเหล่านักแสดงในระดับซูเปอร์สตาร์ของทั้งฮอลลีวูดและโลกลูกหนังจริงๆ และยังมีประเด็นอื่นที่ยิ่งใหญ่และสำคัญยิ่งกว่าเกมฟุตบอล นั่นคือภาพยนตร์ที่ออกฉายในปี 1981 ในชื่อ "Victory" (เตะแหลกแล้วแหกค่าย) 

Victory เป็นผลงานของผู้กำกับ จอห์น ฮูสตัน (The Treasure of the Sierra Madre) เล่าเรื่องสมมติเกี่ยวกับเหล่าเชลยศึกฝ่ายสัมพันธมิตร ที่รวมกลุ่มกันเตะฟุตบอลอยู่ในค่ายนักโทษของนาซีเยอรมัน โดยมี ร้อยเอก จอห์น โคลบี้ นายทหารอดีตนักฟุตบอลทีมชาติอังกฤษ และสโมสร เวสต์ แฮม ยูไนเต็ด เป็นทั้งผู้เล่นและผู้จัดการทีม อยู่มาวันหนึ่ง พันเอก คาร์ล ฟอน ชไตเนอร์ นายทหารชั้นผู้ใหญ่ของกองทัพนาซี และอดีตนักฟุตบอลทีมชาติเยอรมนี ได้เข้ามาเยี่ยมค่ายเชลย และเห็นการแข่งฟุตบอลภายในค่าย จึงเกิดความคิดที่จะจัดการแข่งระหว่างทีมชาติเยอรมนี(นาซี) กับทีมรวมดาราสัมพันธมิตร และอนุญาตให้ โคลบี้ รวมรวมอดีตนักฟุตบอลอาชีพที่เป็นเชลยสงครามอยู่ในค่ายต่างๆมาเสริมทีม โดยจุดประสงค์แอบแฝงคือทำให้การแข่งขันครั้งนี้เป็นโฆษณาชวนเชื่อทางการเมือง เนื่องจากฝ่ายนาซีเป็นผู้กำหนดสถานที่ และเลือกผู้ตัดสินด้วยตัวเอง ด้วยหมายที่จะแสดงความแข็งแกร่งของลูกหนังนาซี ที่แข็งแกร่งไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าการทหาร

ด้าน ร้อยเอก โรเบิร์ต แฮทช์ นายทหารชาวอเมริกัน ที่พยายามทุกวิถีทางเพื่อหนีจากค่ายเชลยนี้ให้ได้ ก็มองเห็นศึกลูกหนังครั้งนี้เป็นช่องทางหนึ่งที่จะพาเขาไปสู่อิสรภาพ แม้ว่าเจ้าตัวจะไม่รู้จักฟุตบอลเลยสักนิดก็ตาม โคลบี้ ได้รับอนุญาตให้รวบรวมนักเตะที่ดีที่สุดของแต่ละค่าย รวมถึงบรรดาอดีตนักเตะอาชีพที่ต้องมาแบกปืนรับใช้ชาติมาไว้กับทีม ที่ทั้งพร้อมที่จะลงแข่ง และทั้งที่ไม่สามารถแม้กระทั่งดำเนินชีวิตต่อไปด้ตามปกติเนื่องจากสภาพร่างกายและจิตใจถูกกระทบกระเทือนจากความโหดเหี้ยมของสงคราม อย่างไรก็ดี จุดประสงค์ของทุกคนนั้นเป็นหนึ่งเดียว คือสู้เพื่ออิสรภาพ ไม่ใช่แค่ร่างกายแต่หมายรวมถึงจิตใจ การได้ปลดปล่อยวิญญาณของนักสู้ที่ถูกคุมขังอยู่ในความมืดมิดของค่ายเชลยมานาน เพื่อประกาศศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ให้โลกได้รับรู้อีกครั้ง 

ภาพยนตร์เรื่องนี้นำแสดงโดยดาราชื่อดังมากมายไม่ว่าจะเป็น ซิลเวสเตอร์ สตอลโลน พระเอกร่างบึ๊กที่ทุกคนรู้จักดีจาก Rambo และ Rocky ที่มารับบท แฮทช์ ทหารหนุ่มผู้รักอิสระ, เซอร์ ไมเคิ่ล เคน ดารารุ่นเก๋าจาก The Italian Job (1969) หรือที่เพิ่งผ่านตาคอหนังทั่วโลกไปอย่าง The Dark Knight แสดงเป็น โคลบี้ นายทหารผู้ไม่เคยทิ้งเลือดนักเตะ แม้จะต้องจบอาชีพที่รักก่อนวัยอันควรเพราะต้องมาแบกปืนสู้ข้าศึก และ มักซ์ ฟอน ซิโดว์ นักแสดงเจ้าบทบาทชาวสวีดิช ผู้ผลงานเด่นคือ บทบาทหลวงเมอร์รินใน The Exorcist (1973) หรือที่ผ่านตานักดูหนังบ้านเราล่าสุดคือ Rush Hour 3 สวมบทเป็น ฟอน ชไตเนอร์ ด้วยมาดและน้ำเสียงที่ร้ายลึก รวมถึงแสดงความหลงใหลในกีฬาลูกหนังในช่วงท้ายเรื่องได้อย่างน่าประทับใจ 

นอกจากนี้ยังมีนักฟุตบอลชื่อก้องโลกตัวจริง ที่มาร่วมดวลแข้งอีกมากมายไม่ว่าจะเป็น เปเล่ ยอดนักเตะตลอดกาลของโลกและทีมชาติบราซิล ที่ไม่ต้องบรรยายสรรพคุณกันอีกแล้ว,  บ๊อบบี้ มัวร์ อดีตปราการหลังกัปตันทีมชาติอังกฤษชุดแชมป์โลก 1966 และตำนานของ เวสต์ แฮม ยูไนเต็ด, ออสวัลโด้ อาร์ดิเลส อดีตกองกลางทีมชาติอาร์เจนติน่า ซึ่งเป็นตัวหลักของ ท็อตแน่ม ฮอทสเปอร์ ในช่วงที่ถ่ายทำภาพยนตร์เรื่องนี้, ไมค์ ซัมเมอร์บี อดีตปีกจอมถล่มประตูของ สวินดอน ทาวน์ และ แมนเชสเตอร์ ซิตี้ และ กอร์ดอน แบ๊งค์ส นายทวารมือ 1 ตลอดกาลของทีมชาติอังกฤษ ที่แม้จะไม่ได้ปรากฎตัวอยู่เบื้องหน้า แต่ก็มารับหน้าที่ผู้ฝึกสอนให้ สตอลโลน สวมบทนายทวารได้ขึงขังสมจริง 

นอกจากความสนุกสนานที่ Victory สามารถตอบสนองแก่ผู้ชมได้เป็นอย่างดีแล้ว ยังสามารถจะจัดให้เข้าพวกกับหนังเชลยสงครามชั้นครูอย่าง Papillon หรือ The Great Escape ได้อีกด้วย เนื่องจากสะท้อนชีวิตความเป็นอยู่ของทหารที่ถูกข้าศึกจับไปกักกันไว้ได้อย่างสมจริง ถ่ายทอดผ่านงานสร้างและนักแสดงฝีมือดี และแม้ว่าความเข้มข้นของเนื้อหาอาจไม่เทียบเท่าสองเรื่องดังกล่าว แต่ก็มีความกระชับฉับไวในการเล่าเรื่อง และความเข้าใจง่ายของเนื้อเรื่องที่มาทดแทนกันได้เป็นอย่างดี และที่ถูกใจแฟนบอลคือ การรวมตัวกันครั้งใหญ่ของนักเตะระดับซูเปอร์สตาร์ของจริง โดยเฉพาะ เปเล่ ที่มีบทเด่นจุใจคอลูกหนังแน่นอนไม่ใช่แค่เดินมาพูดสองสามประโยคแล้วก็หายไป พร้อมทั้งฉากการแข่งขันที่มีบรรยากาศสมจริงและน่าตื่นเต้นไม่แพ้การชมฟุตบอลถ่ายทอดสด ถ่ายทำแมตช์กันอย่างเป็นจริงเป็นจังไม่ใช่ตัดไฮไลท์มาปะติดปะต่อกับหน้าดาราแต่อย่างใด 

Victory จึงเป็นภาพยนตร์แนวฟุตบอลที่มีความขลัง และอมตะ ด้วยความสมจริงของงานสร้าง อุดมดาราคับคั่งทั้งจากฮอลลีวู้ดและโลกลูกหนัง เนื้อหาที่ไม่อิงอยู่แต่กับฟุตบอลจนเลี่ยน แต่มีประเด็นทางประวัติศาสตร์และการเมือง ผ่านการนำเสนอที่ไม่ซับซ้อน ช่วยกระตุ้นให้สนใจภาพยนตร์แนวชีวิตทหารในสงครามมากขึ้น (มากกว่าที่สนใจหนังสงครามเพราะอยากเห็นกระสุนปลิวว่อนเจาะกบาลคน) และมีข้อคิดดีๆว่าด้วยการ"เสียสละเพื่อทีม"ที่ผู้เขียนจะไม่ขอกล่าวถึงให้มาก เดี๋ยวจะกลายเป็นการเล่าคนเดียวจบ ฝากให้ท่านผู้อ่านไปหามารับชมเองเสียจะดีกว่า (ไม่ได้ค่าโฆษณาแต่อย่างใด)

***** 

บทความชิ้นนี้อาจเยิ่นเย้อยาวยืดพอสมควร เนื่องด้วยจิตใจใฝ่รำพันของผู้เขียน ที่ต้องการอธิบายถึงแรงบันดาลใจให้เขียนถึงอะไรที่ "เกือบจะ" ไม่ใช่ฟุตบอล (และก็ไม่ใช่เรื่องจากต่างแดนอะไรด้วย เพราะถึงแม้จะพูดถึงภาพยนตร์ต่างชาติ แต่ก็ดูที่เมืองไทย และเขียนบทความนี้ที่เมืองไทยเหมือนกัน ต่างแดนตรงไหน?) แน่นอนว่าบทความชิ้นต่อไปในอีกสี่สัปดาห์กว่าจะวนมาถึงคิว ก็จะเป็นเรื่องภาพยนตร์อีกเช่นกัน แต่ไม่เกี่ยวกับฟุตบอลแล้วล่ะ เพราะจะเป็นเรื่องของการแข่งกีฬาโอลิมปิก หากท่านเป็นคนรักกีฬาและชอบดูหนัง ก็ใคร่ขอเชิญชวนให้ติดตามอ่านในโอกาสต่อไป

*****

วันเสาร์ที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2551

To Live and Die in L.A. (1985)


To Live and Die in L.A. (1985), ปราบตาย (๒๕๒๘)

     หากกล่าวถึงผู้กำกับที่เก่งกาจในการสร้างสรรค์ภาพยนตร์แนวดราม่าอาชญากรรม-ตำรวจจับผู้ร้าย หนึ่งในจำนวนนั้นก็ควรมีชื่อของ วิลเลียม ฟรีดกิ้น อยู่ด้วย แม้ว่าภาพยนตร์ที่ถูกกล่าวขวัญถึงมากที่สุดของผู้กำกับท่านนี้จะเป็นหนังสยองขวัญระดับตำนานอย่าง The Exorcist (พ.ศ. ๒๕๑๖) แต่ผลงานที่ทำให้เขากลายเป็นยอดผู้กำกับหนังอาชญากรรม คือ The French Connection ภาพยนตร์ที่ออกฉายในปี พ.ศ. ๒๕๑๔ ซึ่งคว้ารางวัลออสการ์ได้ถึง ๕ สาขา โดยกวาด ๓ รางวัลใหญ่อย่างภาพยนตร์ยอดเยี่ยม, ผู้กำกับยอดเยี่ยม และนักแสดงนำชายยอดเยี่ยมที่ส่งให้ ยีน แฮคแมน ขึ้นแท่นเป็นดาราคุณภาพแถวหน้าของฮอลลีวูดมาจนถึงยุคปัจจุบัน และหลังจากนั้น ๑๔ ปี ฟรีดกิ้น ก็หวนคืนสู่การทำหนังแนวแอ็คชั่นอาชญากรรมอีกครั้ง คราวนี้คือผลงานที่มีชื่อว่า To Live and Die in L.A.

     To Live and Die in L.A. มีความใกล้เคียงและคล้ายคลึงกับ The French Connection ในหลายส่วนจนเรียกได้ว่าคงไม่ผิดนักหากจะกล่าวว่า "ปราบตาย" เป็นน้องแท้ๆของ "มือปราบเพชรตัดเพชร" เพราะต่างก็เป็นเรื่องของตำรวจคู่หูที่ออกล่าอาชญากรตัวฉกาจ และตัวละครเอกของเรื่องก็ต่างมีลักษณะ Anti-hero เหมือนกัน คือไม่ใช่พระเอกในอุดมคติ แต่เป็นบุคคลธรรมดาที่มีดีชั่วพอกัน (โดยเฉพาะ L.A. ที่ผู้เขียนเห็นด้านชั่วในตัวเอกมากกว่าด้านดีด้วยซ้ำ) ใช้อารมณ์เหนือเหตุผลให้เห็นบ่อยครั้ง และที่ขาดไม่ได้คือฉากขับรถไล่ล่าอันสุดระทึกใจ ซึ่งเป็นจุดไคลแม็กซ์ที่ฟรีดกิ้นนำมาตอกย้ำความมันส์อีกครั้ง หลังจากที่เคยทำเอาผู้ชมลุ้นจนลืมหายใจมาแล้วในทศวรรษก่อนหน้า

     "ปราบตาย" เป็นเรื่องราวของ ริชาร์ด แชนซ์ (วิลเลี่ยม แอล พีเดอร์เซ่น) ตำรวจสืบราชการลับจอมบ้าระห่ำ ที่ออกไล่ล่า ริค มาสเตอร์ส (วิลเลม ดาโฟ) นักพิมพ์แบงค์ปลอมผู้มีส่วนในการสังหารโหดอดีตคู่หูของเขา โดยมี จอห์น วูโควิช (จอห์น แพนโคว์) ตำรวจอ่อนประสบการณ์มาเป็นคู่หูคนใหม่ในภารกิจนี้ ยิ่งนานเข้า แชนซ์ ก็ยิ่งห่างไกลจากการจับฆาตกรรายนี้มาลงโทษให้ได้เสียทีเนื่องด้วยระบบการทำงานอันย่ำแย่ที่ไม่มีประสิทธิภาพพอที่จะลากตัวอาชญากรตัวเอ้มาเข้าชังเต บวกกับความแค้นที่สุมอยู่จนเต็มอก ทำให้"ผู้พิทักษ์สันติราษฎร์" รายนี้ พร้อมที่จะเล่นนอกกฎเกณฑ์ทุกประการอย่างไม่สนใจความผิดชอบชั่วดี เพื่อลากคอวายร้ายจอมอำมหิตรายนี้มาลงโทษให้ได้ ต่อให้ต้องรับบทผู้ร้ายเสียเองก็ตาม

     ฉากขับรถไล่ล่าอันเป็นจุดไคลแม็กซ์ที่ ฟรีดกิ้น นำกลับมาใช้อีกครั้งตามที่ได้กล่าวถึงไปแล้ว อาจเรียกได้ว่าเป็นหนึ่งในฉากขับรถไล่ล่าที่น่าตื่นเต้นมากที่สุดบนแผ่นฟิล์ม เพราะนอกจากจะกินเวลานานร่วม 10 นาทีแล้ว ก็ยังเพิ่มอุปสรรคเป็นดงกระสุนของเหล่า Antagonists จำนวนมากที่ดาหน้ากันเข้ามาไล่ถล่มพาหนะของสองตัวเอกอย่างน่าตกตะลึง นอกจากนั้นแล้วยังนำเอาเทคนิคที่เคยประสบความสำเร็จในภาพยนตร์สยองขวัญ มาปรับใช้เพื่อสร้างความน่ากลัวให้กับตัวละคร ริค มาสเตอร์ ซึ่งเมื่อผนวกเข้ากับการแสดงของดารายอดฝีมืออย่าง วิลเลม ดาโฟ แล้ว ผลที่ได้คือความน่าสะพรึงที่ติดอยู่ในความทรงจำของผู้ชมแม้จะเสร็จสิ้นจากการรับชมไปแล้วก็ตาม

     องค์ประกอบอื่นๆที่น่าจดจำในภาพยนตร์บู๊ระทึกขวัญเรื่องนี้ ก็ยังมีฉากพิมพ์ธนบัตรปลอมที่นำเสนอให้ชมกันแบบทีละขั้นตอนตั้งแต่ทำแม่พิมพ์จนถึงกระบวนการทำธนบัตรให้ดูเก่าเลยทีเดียว เรียกได้ว่าหากผู้ชมท่านใดมีอุปกรณ์และฝีมือพร้อมก็สามารถทำตามได้เลย (แต่ไม่แนะนำนะครับเพราะผิดกฎหมาย) รวมถึงดนตรีประกอบเร้าอารมณ์ด้วยจังหวะรัวกลองพริ้วไหวหนักแน่นตามสไตล์ป๊อบร็อคแห่งยุค 80 โดยฝีมือของ Wang Chung วงดนตรีจากอังกฤษ ซึ่งฟรีดกิ้นมอบหมายให้เข้ามาทำเพลงประกอบงานชิ้นนี้โดยเฉพาะ

     อย่างไรก็ดี To Live and Die in L.A. กลับไม่ได้รับเสียงตอบรับที่ดีจากผู้ชมนักเมื่อเปิดตัว ทั้งที่มีคุณภาพเข้าขั้นเป็นหนึ่งในผลงานชิ้นโบว์แดงของผู้กำกับมือฉมังรายนี้ ซึ่งสาเหตุเป็นเพราะมีฉากจบที่เหนือความคาดหมายและน่าตกตะลึง ซึ่งแม้ทางสตูดิโอผู้ออกทุนจะได้ขอให้ ฟรีดกิ้น เปลี่ยนตอนจบ และเขาเองก็ได้ถ่ายทำตอนจบแบบใหม่เรียบร้อยแล้ว แต่เมื่อเอามาประกอบดูแล้วพบว่าไม่ใช่คำตอบที่ถูกต้องสำหรับงานชิ้นนี้ จึงต้องจบอย่าง "ไม่เอาใจคนดู" ไปในที่สุด ซึ่งจนถึงปัจจุบันก็มีภาพยนตร์น้อยเรื่องมากที่กล้าสรุปเรื่องเช่นเดียวกับที่ ฟรีดกิ้น ได้ทำไว้

     ความกล้าหาญของฟรีดกิ้น ที่นำเสนอภาพยนตร์แบบในที่ไม่มีใครกล้าทำมาก่อน (หรือถ้ามีก็น้อยมาก) นี้เอง ที่ทำให้ "ปราบตาย" กลายเป็นชิ้นงานที่อยู่เหนือกาลเวลา เพราะยังคงความสดใหม่สำหรับผู้ชมอีกหลายรายซึ่งยังไม่เคยได้สัมผัสกับบทที่ไม่ตามสูตรและไม่เอาใจคนดูเช่นนี้ เนื้อหาของตัวหนังอาจไม่เป็นมิตรต่อผู้ชมที่คุ้นเคยกับสูตร "ธรรมะสู้อธรรม" แต่ก็ถือว่าเป็นประสบการณ์ที่หาได้ยากยิ่งในการรับชมภาพยนตร์สักเรื่อง โดยเฉพาะจากฝั่งฮอลลีวูดเช่นนี้

วันอาทิตย์ที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2551

The Fall (2006)


The Fall (2006), พลังฝันภวังค์รัก (๒๕๔๙)


งานกำกับภาพยนตร์ชิ้นที่สองของ ทาร์เซ็ม ซิงห์ ผู้กำกับชาวอินเดียที่เคยสร้างชื่อมากับองค์ประกอบศิลป์สุดอลังการในงานชิ้นแรกของเขา The Cell เมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๓ โดยคราวนี้ทาร์เซ็ม ก็ยังพกพาจุดขายอันโดดเด่นของเขามามอบให้แก่ผู้ชมอีกครั้งหนึ่ง และน่าจะเรียกได้ว่าน่าประทับใจมากกว่าเดิมเสียอีก โดย The Fall เป็นภาพยนตร์ที่ออกฉายครั้งแรกในปี พ.ศ. ๒๕๔๙ แต่เพิ่งเปิดตัวในตลาดใหญ่อย่างสหรัฐอเมริกาในวันที่ ๙ พฤษภาคม ๒๕๕๑ และเข้าฉายในบ้านเราเมื่อ ๒๕ กันยายน ๒๕๕๑ ซึ่งก็ต้องขอบคุณเครือเอเพ็กซ์มา ณ ที่นี้ด้วยที่นำหนังนอกกระแสดีๆมาให้นักดูหนังชาวไทยได้สัมผัสอยู่เสมอมา ซึ่งรวมถึงภาพยนตร์เรื่องนี้ด้วยเช่นกัน

ตัวหนังใช้โรงพยาบาลแห่งหนึ่งในลอส แอนเจลิส ช่วงปี ค.ศ. 1920 เป็นฉากหลัง โดยตัวละครเอกเป็นเด็กหญิงเชื้อสายอินเดียชื่อ อเล็กซานเดรีย ซึ่งเป็นผู้ป่วยที่เข้าพักรักษาอาการบาดเจ็บที่เธอได้รับจากการพลัดตกลงมาจากต้นส้มขณะกำลังช่วยแม่เก็บผล วันหนึ่งอเล็กซานเดรียได้พบกับ รอย วอล์คเกอร์ สตั๊นท์แมนหนุ่มที่เข้าพักรักษาตัวเพราะประสบอุบัติเหตุระหว่างถ่ายทำจนขาหัก ทั้งสองได้ทำความรู้จักกันผ่านนิทานของรอย ซึ่งได้สร้างโลกใบใหม่และเพื่อนอีกมากมายในจินตนาการของเด็กน้อย (ซึ่งเธอนำเอาบุคคลที่พบเจอในชีวิตจริงมารับบทเป็นตัวละครแต่ละตัว) ทั้งสองออกผจญภัยผ่านเทพนิยายอันสนุกสนานของวัยเยาว์ และโลกแห่งความเป็นจริงอันมืดหม่นของผู้ใหญ่ไปด้วยกัน จนกระทั่งได้เรียนรู้ในท้ายที่สุดว่า ไม่ว่าชีวิตจะตกต่ำหรือดูด้อยค่าเพียงใด มนุษย์ทุกคนก็ยังคงมีความสำคัญในสายตาของใครบางคนอยู่เสมอ 


The Fall น่าจะเรียกได้ว่าเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของทาร์เซ็มในอาชีพผู้กำกับภาพยนตร์ เนื่องจากได้รับคำชื่นชมอย่างล้นหลามจากผู้ชมทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นฉากในจินตนาการของอเล็กซานเดรีย ที่สวยงามและอลังการตามมาตรฐานที่เขาเคยทำได้มาแล้วใน The Cell แต่ที่สำคัญคือยังมีบทชีวิตจริงที่สามารถสะกดผู้ชมให้ติดตามเอาใจช่วยตัวละครในการเผชิญปัญหาชีวิตได้ไม่แพ้ความตื่นเต้นของการผจญภัยในโลกแห่งความฝัน จุดนี้เองที่ทาร์เซ็มทำได้ดีกว่างานชิ้นแรกของเขาอย่างน่าชื่นชม ทีมนักแสดงต่างก็ทำหน้าที่ได้เป็นอย่างดีและช่วยทำให้ผู้ชมเกิดความรักในตัวละคร โดยเฉพาะคาทินคา อุนรานู นักแสดงเด็กชาวโรมาเนียนที่มีอายุเพียง 8 ขวบเท่านั้นในขณะถ่ายทำภาพยนตร์ (เกิดปีค.ศ. 1997) ซึ่งสามารถแสดงได้อย่างน่ารักและเป็นธรรมชาติจนผู้เขียนเองแทบไม่เชื่อว่ากำลังรับชม "การแสดง" อยู่ในขณะที่ภาพยนตร์กำลังฉาย

ตัวหนังอาจมีจุดด้อยอยู่ในช่วงท้าย ที่จำเป็นต้องเดินเรื่องเข้าสู่ไคลแม็กซ์สุดท้ายซึ่งว่าด้วยความหม่นเศร้าและสับสนในจิตใจของตัวละคร มีการเล่าเรื่องที่รวบรัดรวดเร็วจนผิดจากอารมณ์แช่มช้าที่ปูมาเกือบตลอดเรื่องไปไม่น้อย อีกทั้งยังมีฉากที่ทำร้ายจิตใจของผู้ชมอยู่มากจนเกือบจะเกินพอดี อย่างไรก็ตาม ความรู้สึกทรมานในใจที่ผู้ชมได้รับนั้น ก็เกิดมาจากความผูกพันที่มีต่อตัวละคร และการเข้าถึงสภาพจิตใจของตัวละครเช่นกัน ซึ่งก็นับว่าผู้สร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ประสบความสำเร็จอย่างยิ่งในการสะกดผู้ชมจนเรียกได้ว่า "อยู่หมัด" ส่วนฉากจบของเรื่องนั้น ส่วนตัวผู้เขียนคิดว่าค่อนข้างด้อยซึ่งพลังในการทิ้งท้ายให้น่าประทับใจ แม้สารที่แฝงมาจะช่วยเติมเต็มเนื้อเรื่องได้ดีแล้วก็ตาม

โดยรวมแล้ว The Fall เป็นภาพยนตร์ที่คนรักหนังควรได้รับชม เนื่องจากมีองค์ประกอบหลักๆที่ดีพร้อมไม่ว่าจะเป็นการแสดง, บทภาพยนตร์, การถ่ายภาพ, องค์ประกอบศิลป์ และแง่คิดที่สำคัญในการดำเนินชีวิต นอกจากนั้นแล้วยังยิงคำถามถึงผู้ชมทุกคน ว่ายังคงมี "ธาตุเด็ก" ของอเล็กซานเดรียหลงเหลืออยู่ในความรู้สึกมากน้อยเพียงใด หรือปล่อยให้ภาระหน้าที่และความคาดหวังในชีวิต เข้าเกาะกุมจิตใจ จนกลายเป็นผู้ใหญ่ที่เศร้าหมองอย่างรอยไปเสียแล้ว

วันพุธที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2551

Platoon (1986)


Platoon (1986), พลาทูน (๒๕๒๙)

"The First Casualty of War is Innocence."
"ความไร้เดียงสาคือสิ่งแรกที่จักสูญเสียในสงคราม"

ผลงานการกำกับภาพยนตร์ลำดับที่ 5 ของ โอลิเวอร์ สโตน หนึ่งในผู้กำกับมือทองของฮอลลีวูด ซึ่งก่อนหน้านี้เคยคว้ารางวัลออสการ์สาขาบทภาพยนตร์ดัดแปลงยอดเยี่ยมจาก Midnight Express ในปี 1978 โดย สโตน เคยรบในสงครามเวียดนามมาแล้วในช่วงเดือนเมษายน 1967 ถึงพฤศจิกายน 1968 ทำให้ Platoon ถูกถ่ายทอดออกมาจากประสบการณ์ของทหารผ่านศึกตัวจริงเสียงจริง

Platoon เริ่มต้นด้วยการมาถึงของเหล่าทหารหนุ่มอันไร้เดียงสา ซึ่งถูกส่งมาเพื่อหมุนเวียนกับรุ่นเก่าที่ประจำการครบกำหนด 1 ปี และภาพที่ทำให้พวกหน้าใหม่ต้องตกตะลึงตั้งแต่ก้าวลงจากเครื่องบินลำเลียงพล คือสภาพของผู้ที่สวนทางกลับออกไปจากสมรภูมิ โดยส่วนใหญ่เป็นร่างไร้วิญญาณบรรจุอยู่ในถุงดำ ที่รอดชีวิตมาได้แม้ร่างกายภายนอกจะอยู่ครบ แต่ในแววตานั้นต่างจากเหล่าเด็กใหม่ราวกับเป็นสิ่งมีชีวิตคนละเผ่าพันธุ์กัน

พลทหาร คริส เทย์เลอร์ (ชาร์ลี ชีน) คือเด็กหนุ่มผู้มีอุดมการณ์และความฝันอยู่นอกตำราเรียน ลาออกจากมหาวิทยาลัยเพื่อสมัครเป็นทหารร่วมรบ ณ ดินแดนอันไกลโพ้นสุดขอบโลกอย่างเวียดนาม (ซึ่งตรงกับชีวิตจริงของ ผกก. สโตน ที่ดร็อปจากมหาวิทยาลัยเยลเพื่อออกมาเรียนรู้โลกนอกระบบการศึกษา) แตกต่างกันโดยสิ้นเชิงกับทหารรายอื่นๆที่มาเพราะความยากจนทำให้ไม่มีทางเลือกนอกจากมาเสี่ยงตายเอาดาบหน้า เพื่อเป็นหมากในต่อสู้บน"ความขัดแย้งทางการเมือง"ที่พวกเขาไม่มีส่วนรู้เห็นกับจุดกำเนิดของมันแม้แต่นิดเดียวด้วยซ้ำ

เอาเข้าจริงการต่อสู้ที่ คริส ได้ประสบพบเจอเป็นหลัก กลับกลายเป็นความขัดแย้งภายในกองร้อยตัวเอง ระหว่างจ่าบาร์น (ทอม เบเรนเกอร์) กับจ่าเอไลแอส (วิลเลม ดาโฟ) ซึ่งโดยปกติก็ดำเนินชีวิตกันไปคนละทาง โดยจ่าบาร์นปล่อยให้ตัวเองถลำลึกเข้าสู่ก้นบึ้งอันมืดมิดของสงคราม กลายเป็นบุคคลอันตรายที่พร้อมทำลายทุกชีวิตที่ขวางทางเขา ขณะที่จ่าเอไลแอสเลือกที่จะหลีกหนีภาพติดตาของสงครามด้วยการพึ่งกัญชาและดนตรีรื่นเริงตามแบบฉบับของบุปผาชน (ซึ่งบาร์นมองว่าเป็นความขี้ขลาดไม่กล้าเผชิญความจริง) จนมีการแบ่งพวกแบ่งพรรค และเมื่อความตึงเครียดของสงครามขมวดเกลียวมากขึ้น พลอยทำให้ความสัมพันธ์ของนายทหารทั้งสองถึงจุดแตกหัก ส่งผลให้กองร้อยทั้งกองพ่ายแพ้ยับเยินเพราะผู้บัญชาการร่วมงานกันไม่ได้ และแม้ในตอนจบของเรื่องนั้น คริส จะรอดชีวิตและไม่ได้รับบาดเจ็บทางกายร้ายแรง แต่แววตาที่เปลี่ยนไปบ่งบอกถึงสภาพจิตใจที่บอบช้ำจากสงคราม และกลายเป็นแววตาเดียวกันกับทหารรุ่นพี่ที่สวนทางกับเขาเมื่อวันแรกที่ก้าวลงจากเครื่องบินลำเลียงพล ราวกับพลทหารคริสผู้ไร้เดียงสานั้นได้ตายไปในสงครามแล้ว


แม้ว่าตอนเข้าฉายใหม่ๆนั้น Platoon จะถูกค่อนขอดว่าใส่เนื้อหาที่รุนแรงเข้ามามากจนเกินไป (โดยเฉพาะฉากทำลายหมู่บ้านชาวเวียดนาม ซึ่งมีภาพของเด็กถูกปืนจ่อที่ศีรษะ และทหารพยายามข่มขืนเด็ก) แต่สุดท้ายก็กลายเป็นความสำเร็จครั้งใหญ่ของ สโตน เมื่อตัวหนังเช้าชิงถึง 8 รางวัลออสการ์ และสามารถคว้ามาได้ 4 รางวัล ได้แก่ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม, ผู้กำกับยอดเยี่ยม (เป็นออสการ์ตัวที่ 2 ของสโตน และตัวแรกในสาขานี้ ก่อนที่เขาจะกลับมาคว้ารางวัลนี้อีกใน 3 ปีให้หลังกับ Born on the 4th of July) , ตัดต่อยอดเยี่ยม และบันทึกเสียงยอดเยี่ยม ส่วนที่พลาดไปได้แก่ นักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยม (ทอม เบเรนเกอร์ กับ วิลเลม ดาโฟ เข้าชิงทั้งคู่), ถ่ายภาพยอดเยี่ยม และบทภาพยนตร์ดั้งเดิมยอดเยี่ยม

มีการนำ Platoon ไปเปรียบเทียบกับ Apocalypse Now (1979) ว่าเรื่องไหนเป็นภาพยนตร์สงครามเวียดนามที่ดีกว่ากัน เนื่องจากต่างกล่าวถึงความโหดเหี้ยมของสงครามที่แปรเปลี่ยนมนุษย์ให้มีจิตใจดำมืดลงไป ต่างนำเสนอภาพของทหารอเมริกันที่คุกคามชาวพื้นเมืองด้วยเหตุผลส่วนตัว (ต้องการระบายอารมณ์ กับ หาสถานที่เล่นกีฬา) และชี้ให้เห็นสาเหตุแห่งความพ่ายแพ้อย่างย่อยยับของสหรัฐฯ ในสงครามครั้งนี้

สำหรับผมแล้วไม่อาจบอกได้ว่าเรื่องไหนดีไปกว่ากัน เพราะต่างมีดีกันไปคนละอย่าง Platoon นั้นสามารถแสดงถึงความโหดของสงครามมากกว่า (โดยเฉพาะฉากรบครั้งสุดท้ายของเรื่องที่น่ากลัวมาก) ส่วน Apocalypse Now เป็นเสมือนภาพเขียนจากหัวใจอันมืดมิดของทหารที่จมดิ่งลงไปในความสยดสยองของสงคราม ส่วนตัวผมคิดว่าภาพยนตร์สองเรื่องนี้ไม่ใช่คู่แข่งกัน แต่เป็นเสมือนส่วนเติมเต็ม เรื่องหนึ่งสามารถอธิบายอีกเรื่องหนึ่งได้เป็นอย่างดี

Platoon จัดเป็นภาพยนตร์ที่ผู้ต้องการศึกษาถึงความเหี้ยมโหดของสมรภูมิควรได้รับชม แล้วจะเข้าใจว่า สงครามไม่ใช่เรื่องที่ "มันส์" เลยแม้แต่นิดเดียว ด้วยองค์ประกอบที่สมจริง บทภาพยนตร์ที่ทำให้ผู้ชมต้องตกตะลึง และการแสดงที่ทรงพลัง (มีดาราดังในปัจจุบันซึ่งตอนนั้นยังไร้ชื่อเสียงอย่าง ฟอเรสต์ วิเทเกอร์ กับ จอห์นนี่ เดปป์ มาร่วมสมทบด้วย) ทำให้มันเป็นเสมือนบทบันทึกประวัติศาสตร์อันทรงคุณค่า และหากได้ผ่านตาแม้เพียงครั้งก็ยากที่จะลืมเลือน