วันพุธที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2551

Platoon (1986)


Platoon (1986), พลาทูน (๒๕๒๙)

"The First Casualty of War is Innocence."
"ความไร้เดียงสาคือสิ่งแรกที่จักสูญเสียในสงคราม"

ผลงานการกำกับภาพยนตร์ลำดับที่ 5 ของ โอลิเวอร์ สโตน หนึ่งในผู้กำกับมือทองของฮอลลีวูด ซึ่งก่อนหน้านี้เคยคว้ารางวัลออสการ์สาขาบทภาพยนตร์ดัดแปลงยอดเยี่ยมจาก Midnight Express ในปี 1978 โดย สโตน เคยรบในสงครามเวียดนามมาแล้วในช่วงเดือนเมษายน 1967 ถึงพฤศจิกายน 1968 ทำให้ Platoon ถูกถ่ายทอดออกมาจากประสบการณ์ของทหารผ่านศึกตัวจริงเสียงจริง

Platoon เริ่มต้นด้วยการมาถึงของเหล่าทหารหนุ่มอันไร้เดียงสา ซึ่งถูกส่งมาเพื่อหมุนเวียนกับรุ่นเก่าที่ประจำการครบกำหนด 1 ปี และภาพที่ทำให้พวกหน้าใหม่ต้องตกตะลึงตั้งแต่ก้าวลงจากเครื่องบินลำเลียงพล คือสภาพของผู้ที่สวนทางกลับออกไปจากสมรภูมิ โดยส่วนใหญ่เป็นร่างไร้วิญญาณบรรจุอยู่ในถุงดำ ที่รอดชีวิตมาได้แม้ร่างกายภายนอกจะอยู่ครบ แต่ในแววตานั้นต่างจากเหล่าเด็กใหม่ราวกับเป็นสิ่งมีชีวิตคนละเผ่าพันธุ์กัน

พลทหาร คริส เทย์เลอร์ (ชาร์ลี ชีน) คือเด็กหนุ่มผู้มีอุดมการณ์และความฝันอยู่นอกตำราเรียน ลาออกจากมหาวิทยาลัยเพื่อสมัครเป็นทหารร่วมรบ ณ ดินแดนอันไกลโพ้นสุดขอบโลกอย่างเวียดนาม (ซึ่งตรงกับชีวิตจริงของ ผกก. สโตน ที่ดร็อปจากมหาวิทยาลัยเยลเพื่อออกมาเรียนรู้โลกนอกระบบการศึกษา) แตกต่างกันโดยสิ้นเชิงกับทหารรายอื่นๆที่มาเพราะความยากจนทำให้ไม่มีทางเลือกนอกจากมาเสี่ยงตายเอาดาบหน้า เพื่อเป็นหมากในต่อสู้บน"ความขัดแย้งทางการเมือง"ที่พวกเขาไม่มีส่วนรู้เห็นกับจุดกำเนิดของมันแม้แต่นิดเดียวด้วยซ้ำ

เอาเข้าจริงการต่อสู้ที่ คริส ได้ประสบพบเจอเป็นหลัก กลับกลายเป็นความขัดแย้งภายในกองร้อยตัวเอง ระหว่างจ่าบาร์น (ทอม เบเรนเกอร์) กับจ่าเอไลแอส (วิลเลม ดาโฟ) ซึ่งโดยปกติก็ดำเนินชีวิตกันไปคนละทาง โดยจ่าบาร์นปล่อยให้ตัวเองถลำลึกเข้าสู่ก้นบึ้งอันมืดมิดของสงคราม กลายเป็นบุคคลอันตรายที่พร้อมทำลายทุกชีวิตที่ขวางทางเขา ขณะที่จ่าเอไลแอสเลือกที่จะหลีกหนีภาพติดตาของสงครามด้วยการพึ่งกัญชาและดนตรีรื่นเริงตามแบบฉบับของบุปผาชน (ซึ่งบาร์นมองว่าเป็นความขี้ขลาดไม่กล้าเผชิญความจริง) จนมีการแบ่งพวกแบ่งพรรค และเมื่อความตึงเครียดของสงครามขมวดเกลียวมากขึ้น พลอยทำให้ความสัมพันธ์ของนายทหารทั้งสองถึงจุดแตกหัก ส่งผลให้กองร้อยทั้งกองพ่ายแพ้ยับเยินเพราะผู้บัญชาการร่วมงานกันไม่ได้ และแม้ในตอนจบของเรื่องนั้น คริส จะรอดชีวิตและไม่ได้รับบาดเจ็บทางกายร้ายแรง แต่แววตาที่เปลี่ยนไปบ่งบอกถึงสภาพจิตใจที่บอบช้ำจากสงคราม และกลายเป็นแววตาเดียวกันกับทหารรุ่นพี่ที่สวนทางกับเขาเมื่อวันแรกที่ก้าวลงจากเครื่องบินลำเลียงพล ราวกับพลทหารคริสผู้ไร้เดียงสานั้นได้ตายไปในสงครามแล้ว


แม้ว่าตอนเข้าฉายใหม่ๆนั้น Platoon จะถูกค่อนขอดว่าใส่เนื้อหาที่รุนแรงเข้ามามากจนเกินไป (โดยเฉพาะฉากทำลายหมู่บ้านชาวเวียดนาม ซึ่งมีภาพของเด็กถูกปืนจ่อที่ศีรษะ และทหารพยายามข่มขืนเด็ก) แต่สุดท้ายก็กลายเป็นความสำเร็จครั้งใหญ่ของ สโตน เมื่อตัวหนังเช้าชิงถึง 8 รางวัลออสการ์ และสามารถคว้ามาได้ 4 รางวัล ได้แก่ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม, ผู้กำกับยอดเยี่ยม (เป็นออสการ์ตัวที่ 2 ของสโตน และตัวแรกในสาขานี้ ก่อนที่เขาจะกลับมาคว้ารางวัลนี้อีกใน 3 ปีให้หลังกับ Born on the 4th of July) , ตัดต่อยอดเยี่ยม และบันทึกเสียงยอดเยี่ยม ส่วนที่พลาดไปได้แก่ นักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยม (ทอม เบเรนเกอร์ กับ วิลเลม ดาโฟ เข้าชิงทั้งคู่), ถ่ายภาพยอดเยี่ยม และบทภาพยนตร์ดั้งเดิมยอดเยี่ยม

มีการนำ Platoon ไปเปรียบเทียบกับ Apocalypse Now (1979) ว่าเรื่องไหนเป็นภาพยนตร์สงครามเวียดนามที่ดีกว่ากัน เนื่องจากต่างกล่าวถึงความโหดเหี้ยมของสงครามที่แปรเปลี่ยนมนุษย์ให้มีจิตใจดำมืดลงไป ต่างนำเสนอภาพของทหารอเมริกันที่คุกคามชาวพื้นเมืองด้วยเหตุผลส่วนตัว (ต้องการระบายอารมณ์ กับ หาสถานที่เล่นกีฬา) และชี้ให้เห็นสาเหตุแห่งความพ่ายแพ้อย่างย่อยยับของสหรัฐฯ ในสงครามครั้งนี้

สำหรับผมแล้วไม่อาจบอกได้ว่าเรื่องไหนดีไปกว่ากัน เพราะต่างมีดีกันไปคนละอย่าง Platoon นั้นสามารถแสดงถึงความโหดของสงครามมากกว่า (โดยเฉพาะฉากรบครั้งสุดท้ายของเรื่องที่น่ากลัวมาก) ส่วน Apocalypse Now เป็นเสมือนภาพเขียนจากหัวใจอันมืดมิดของทหารที่จมดิ่งลงไปในความสยดสยองของสงคราม ส่วนตัวผมคิดว่าภาพยนตร์สองเรื่องนี้ไม่ใช่คู่แข่งกัน แต่เป็นเสมือนส่วนเติมเต็ม เรื่องหนึ่งสามารถอธิบายอีกเรื่องหนึ่งได้เป็นอย่างดี

Platoon จัดเป็นภาพยนตร์ที่ผู้ต้องการศึกษาถึงความเหี้ยมโหดของสมรภูมิควรได้รับชม แล้วจะเข้าใจว่า สงครามไม่ใช่เรื่องที่ "มันส์" เลยแม้แต่นิดเดียว ด้วยองค์ประกอบที่สมจริง บทภาพยนตร์ที่ทำให้ผู้ชมต้องตกตะลึง และการแสดงที่ทรงพลัง (มีดาราดังในปัจจุบันซึ่งตอนนั้นยังไร้ชื่อเสียงอย่าง ฟอเรสต์ วิเทเกอร์ กับ จอห์นนี่ เดปป์ มาร่วมสมทบด้วย) ทำให้มันเป็นเสมือนบทบันทึกประวัติศาสตร์อันทรงคุณค่า และหากได้ผ่านตาแม้เพียงครั้งก็ยากที่จะลืมเลือน

ไม่มีความคิดเห็น: