วันจันทร์ที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551

Victory (1981)

Victory (1981), เตะแหลกแล้วแหกค่าย (๒๕๒๔)


หมายเหตุ บทความชิ้นนี้เป็นการบันทึกงานเขียนที่เผยแพร่ในคอลัมน์ "เรื่องเด่นต่างแดน" ของเว็บไซต์ล้มโต๊ะดอทคอม ตามลิ้งค์ด้านล่าง ด้วยความที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับภาพยนตร์โดยตรงจึงนำมาบันทึกไว้ในบล็อกนี้เช่นกัน


ก่อนอื่นต้องขอเกริ่นนำว่าผู้เขียนมีความเบื่อหน่ายในกีฬาฟุตบอลอย่างมากถึงมากที่สุด เพราะนอกจากงานที่ทำประจำวันจะเป็นการทำข่าวฟุตบอลแล้ว เมื่อถึงเวลาพักก็มักเจอกระแสคลั่งบอลเข้ามาให้พบเห็นผ่านสื่อวิทยุโทรทัศน์และอินเตอร์เน็ต ดังนั้นแล้วบทความนี้จึงไม่เกี่ยวกับโลกฟุตบอลโดยตรงนัก เนื่องจากความเบื่อหน่ายนั้นจึงรู้สึกพะอืดพะอมยิ่งนักที่จะแสดงความคิดเห็น หรือนำเสนอชีวิตของนักฟุตบอล ที่พูดกันแต่เรื่องชีวิตส่วนตัวและงานรับจ้างเตะลูกหนังสูบลมเข้าช่องประตู 

ผู้เขียนจึงเลือกที่จะนำเสนอสิ่งที่เป็นแรงบันดาลใจในชีวิตที่มีคุณค่ามากกว่าความบันเทิง นั่นคือวรรณกรรมและภาพยนตร์ ซึ่งเชื่อว่ามีผู้อ่านหลายคนที่สนใจในงานเหล่านี้ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าการชมและเชียร์ฟุตบอล(แบบติดปลายนวม) แต่อาจมีจำนวนไม่น้อยที่จำกัดการเสพงานจำพวกนี้จนเกินไป หรือกระทั่งมองข้ามงานจำพวกนี้ไปอย่างน่าเสียดาย

อย่างไรก็ดีเพื่อให้เข้ากับบรรยากาศของเว็บไซต์ที่เป็นเรื่องฟุตบอลทั้งหมด จึงต้องขอขึ้นต้นด้วยภาพยนตร์ที่มีความเกี่ยวข้องกับฟุตบอล ก่อนที่จะ"เนียน"ไปหาแนวอื่นๆ และงานประเภทอื่นๆในอนาคต 

หากกล่าวถึงภาพยนตร์ที่มีความเกี่ยวข้องกับกีฬาฟุตบอล เชื่อว่าเกือบร้อยทั้งร้อยจะนึกถึงเรื่อง Goal! ที่ว่าด้วยการผจญภัยบนถนนลูกหนังของเจ้าหนุ่มซานติอาโก้ ที่เริ่มจากนักเตะบ้านนอกไปเป็นหนึ่งในดาราแข้งทองของยุโรป ฯลฯ

แต่บทความนี้จะไม่เกี่ยวกับ Goal! หรอก เนื่องจากเชื่อว่าผู้อ่านรู้จักกันดีอยู่แล้วเนื่องด้วยเป็นภาพยนตร์ร่วมสมัย จะป่วยการเขียนไปก็ใช่ที่ นอกจากนั้นแล้วด้วยเนื้อหาที่มีแต่เรื่องของฟุตบอล และชีวิตฟุ้งเฟ้อของเหล่าเซเลบริตี้ใส่สตั๊ดทั้งหลายแหล่ ซึ่งล้วนทำให้ผู้เขียนสะอิดสะเอียนยิ่งนัก จึงขอหลีกหนีไปเสียให้ไกลเสียดีกว่า 

*****

ภาพยนตร์ที่จะกล่าวถึงต่อไปนี้ที่มีเหล่านักแสดงในระดับซูเปอร์สตาร์ของทั้งฮอลลีวูดและโลกลูกหนังจริงๆ และยังมีประเด็นอื่นที่ยิ่งใหญ่และสำคัญยิ่งกว่าเกมฟุตบอล นั่นคือภาพยนตร์ที่ออกฉายในปี 1981 ในชื่อ "Victory" (เตะแหลกแล้วแหกค่าย) 

Victory เป็นผลงานของผู้กำกับ จอห์น ฮูสตัน (The Treasure of the Sierra Madre) เล่าเรื่องสมมติเกี่ยวกับเหล่าเชลยศึกฝ่ายสัมพันธมิตร ที่รวมกลุ่มกันเตะฟุตบอลอยู่ในค่ายนักโทษของนาซีเยอรมัน โดยมี ร้อยเอก จอห์น โคลบี้ นายทหารอดีตนักฟุตบอลทีมชาติอังกฤษ และสโมสร เวสต์ แฮม ยูไนเต็ด เป็นทั้งผู้เล่นและผู้จัดการทีม อยู่มาวันหนึ่ง พันเอก คาร์ล ฟอน ชไตเนอร์ นายทหารชั้นผู้ใหญ่ของกองทัพนาซี และอดีตนักฟุตบอลทีมชาติเยอรมนี ได้เข้ามาเยี่ยมค่ายเชลย และเห็นการแข่งฟุตบอลภายในค่าย จึงเกิดความคิดที่จะจัดการแข่งระหว่างทีมชาติเยอรมนี(นาซี) กับทีมรวมดาราสัมพันธมิตร และอนุญาตให้ โคลบี้ รวมรวมอดีตนักฟุตบอลอาชีพที่เป็นเชลยสงครามอยู่ในค่ายต่างๆมาเสริมทีม โดยจุดประสงค์แอบแฝงคือทำให้การแข่งขันครั้งนี้เป็นโฆษณาชวนเชื่อทางการเมือง เนื่องจากฝ่ายนาซีเป็นผู้กำหนดสถานที่ และเลือกผู้ตัดสินด้วยตัวเอง ด้วยหมายที่จะแสดงความแข็งแกร่งของลูกหนังนาซี ที่แข็งแกร่งไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าการทหาร

ด้าน ร้อยเอก โรเบิร์ต แฮทช์ นายทหารชาวอเมริกัน ที่พยายามทุกวิถีทางเพื่อหนีจากค่ายเชลยนี้ให้ได้ ก็มองเห็นศึกลูกหนังครั้งนี้เป็นช่องทางหนึ่งที่จะพาเขาไปสู่อิสรภาพ แม้ว่าเจ้าตัวจะไม่รู้จักฟุตบอลเลยสักนิดก็ตาม โคลบี้ ได้รับอนุญาตให้รวบรวมนักเตะที่ดีที่สุดของแต่ละค่าย รวมถึงบรรดาอดีตนักเตะอาชีพที่ต้องมาแบกปืนรับใช้ชาติมาไว้กับทีม ที่ทั้งพร้อมที่จะลงแข่ง และทั้งที่ไม่สามารถแม้กระทั่งดำเนินชีวิตต่อไปด้ตามปกติเนื่องจากสภาพร่างกายและจิตใจถูกกระทบกระเทือนจากความโหดเหี้ยมของสงคราม อย่างไรก็ดี จุดประสงค์ของทุกคนนั้นเป็นหนึ่งเดียว คือสู้เพื่ออิสรภาพ ไม่ใช่แค่ร่างกายแต่หมายรวมถึงจิตใจ การได้ปลดปล่อยวิญญาณของนักสู้ที่ถูกคุมขังอยู่ในความมืดมิดของค่ายเชลยมานาน เพื่อประกาศศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ให้โลกได้รับรู้อีกครั้ง 

ภาพยนตร์เรื่องนี้นำแสดงโดยดาราชื่อดังมากมายไม่ว่าจะเป็น ซิลเวสเตอร์ สตอลโลน พระเอกร่างบึ๊กที่ทุกคนรู้จักดีจาก Rambo และ Rocky ที่มารับบท แฮทช์ ทหารหนุ่มผู้รักอิสระ, เซอร์ ไมเคิ่ล เคน ดารารุ่นเก๋าจาก The Italian Job (1969) หรือที่เพิ่งผ่านตาคอหนังทั่วโลกไปอย่าง The Dark Knight แสดงเป็น โคลบี้ นายทหารผู้ไม่เคยทิ้งเลือดนักเตะ แม้จะต้องจบอาชีพที่รักก่อนวัยอันควรเพราะต้องมาแบกปืนสู้ข้าศึก และ มักซ์ ฟอน ซิโดว์ นักแสดงเจ้าบทบาทชาวสวีดิช ผู้ผลงานเด่นคือ บทบาทหลวงเมอร์รินใน The Exorcist (1973) หรือที่ผ่านตานักดูหนังบ้านเราล่าสุดคือ Rush Hour 3 สวมบทเป็น ฟอน ชไตเนอร์ ด้วยมาดและน้ำเสียงที่ร้ายลึก รวมถึงแสดงความหลงใหลในกีฬาลูกหนังในช่วงท้ายเรื่องได้อย่างน่าประทับใจ 

นอกจากนี้ยังมีนักฟุตบอลชื่อก้องโลกตัวจริง ที่มาร่วมดวลแข้งอีกมากมายไม่ว่าจะเป็น เปเล่ ยอดนักเตะตลอดกาลของโลกและทีมชาติบราซิล ที่ไม่ต้องบรรยายสรรพคุณกันอีกแล้ว,  บ๊อบบี้ มัวร์ อดีตปราการหลังกัปตันทีมชาติอังกฤษชุดแชมป์โลก 1966 และตำนานของ เวสต์ แฮม ยูไนเต็ด, ออสวัลโด้ อาร์ดิเลส อดีตกองกลางทีมชาติอาร์เจนติน่า ซึ่งเป็นตัวหลักของ ท็อตแน่ม ฮอทสเปอร์ ในช่วงที่ถ่ายทำภาพยนตร์เรื่องนี้, ไมค์ ซัมเมอร์บี อดีตปีกจอมถล่มประตูของ สวินดอน ทาวน์ และ แมนเชสเตอร์ ซิตี้ และ กอร์ดอน แบ๊งค์ส นายทวารมือ 1 ตลอดกาลของทีมชาติอังกฤษ ที่แม้จะไม่ได้ปรากฎตัวอยู่เบื้องหน้า แต่ก็มารับหน้าที่ผู้ฝึกสอนให้ สตอลโลน สวมบทนายทวารได้ขึงขังสมจริง 

นอกจากความสนุกสนานที่ Victory สามารถตอบสนองแก่ผู้ชมได้เป็นอย่างดีแล้ว ยังสามารถจะจัดให้เข้าพวกกับหนังเชลยสงครามชั้นครูอย่าง Papillon หรือ The Great Escape ได้อีกด้วย เนื่องจากสะท้อนชีวิตความเป็นอยู่ของทหารที่ถูกข้าศึกจับไปกักกันไว้ได้อย่างสมจริง ถ่ายทอดผ่านงานสร้างและนักแสดงฝีมือดี และแม้ว่าความเข้มข้นของเนื้อหาอาจไม่เทียบเท่าสองเรื่องดังกล่าว แต่ก็มีความกระชับฉับไวในการเล่าเรื่อง และความเข้าใจง่ายของเนื้อเรื่องที่มาทดแทนกันได้เป็นอย่างดี และที่ถูกใจแฟนบอลคือ การรวมตัวกันครั้งใหญ่ของนักเตะระดับซูเปอร์สตาร์ของจริง โดยเฉพาะ เปเล่ ที่มีบทเด่นจุใจคอลูกหนังแน่นอนไม่ใช่แค่เดินมาพูดสองสามประโยคแล้วก็หายไป พร้อมทั้งฉากการแข่งขันที่มีบรรยากาศสมจริงและน่าตื่นเต้นไม่แพ้การชมฟุตบอลถ่ายทอดสด ถ่ายทำแมตช์กันอย่างเป็นจริงเป็นจังไม่ใช่ตัดไฮไลท์มาปะติดปะต่อกับหน้าดาราแต่อย่างใด 

Victory จึงเป็นภาพยนตร์แนวฟุตบอลที่มีความขลัง และอมตะ ด้วยความสมจริงของงานสร้าง อุดมดาราคับคั่งทั้งจากฮอลลีวู้ดและโลกลูกหนัง เนื้อหาที่ไม่อิงอยู่แต่กับฟุตบอลจนเลี่ยน แต่มีประเด็นทางประวัติศาสตร์และการเมือง ผ่านการนำเสนอที่ไม่ซับซ้อน ช่วยกระตุ้นให้สนใจภาพยนตร์แนวชีวิตทหารในสงครามมากขึ้น (มากกว่าที่สนใจหนังสงครามเพราะอยากเห็นกระสุนปลิวว่อนเจาะกบาลคน) และมีข้อคิดดีๆว่าด้วยการ"เสียสละเพื่อทีม"ที่ผู้เขียนจะไม่ขอกล่าวถึงให้มาก เดี๋ยวจะกลายเป็นการเล่าคนเดียวจบ ฝากให้ท่านผู้อ่านไปหามารับชมเองเสียจะดีกว่า (ไม่ได้ค่าโฆษณาแต่อย่างใด)

***** 

บทความชิ้นนี้อาจเยิ่นเย้อยาวยืดพอสมควร เนื่องด้วยจิตใจใฝ่รำพันของผู้เขียน ที่ต้องการอธิบายถึงแรงบันดาลใจให้เขียนถึงอะไรที่ "เกือบจะ" ไม่ใช่ฟุตบอล (และก็ไม่ใช่เรื่องจากต่างแดนอะไรด้วย เพราะถึงแม้จะพูดถึงภาพยนตร์ต่างชาติ แต่ก็ดูที่เมืองไทย และเขียนบทความนี้ที่เมืองไทยเหมือนกัน ต่างแดนตรงไหน?) แน่นอนว่าบทความชิ้นต่อไปในอีกสี่สัปดาห์กว่าจะวนมาถึงคิว ก็จะเป็นเรื่องภาพยนตร์อีกเช่นกัน แต่ไม่เกี่ยวกับฟุตบอลแล้วล่ะ เพราะจะเป็นเรื่องของการแข่งกีฬาโอลิมปิก หากท่านเป็นคนรักกีฬาและชอบดูหนัง ก็ใคร่ขอเชิญชวนให้ติดตามอ่านในโอกาสต่อไป

*****