วันอังคารที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2551

Chariots of Fire (1981)

Chariots of Fire (1981), เกียรติยศแห่งชัยชนะ (๒๕๒๔)

หมายเหตุ บทความชิ้นนี้เป็นการบันทึกงานเขียนที่เผยแพร่ในคอลัมน์ "เรื่องเด่นต่างแดน" ของเว็บไซต์ล้มโต๊ะดอทคอม ตามลิ้งค์ด้านล่าง ด้วยความที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับภาพยนตร์โดยตรงจึงนำมาบันทึกไว้ในบล็อกนี้เช่นกัน



     เป็นที่ยอมรับโดยทั่วกันว่า มหกรรมกีฬาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกคือ โอลิมปิกเกมส์ ด้วยตำนานการชิงชัยที่มีมาอย่างยาวนานตั้งแต่ยุคกรีกโบราณ จนมาถึงโอลิมปิกสมัยใหม่ที่มีอายุเกือบ 150 ปีเข้าไปแล้ว โดยครั้งล่าสุดที่กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน เป็นเจ้าภาพเมื่อช่วงกลางปีที่ผ่านมานั้น มีการชิงชัยรวมทั้งหมด 302 รายการจาก 28 ชนิดกีฬา และมีนักกีฬาเข้าร่วมแข่งขันถึง 11,028 ชีวิตจาก 204 ประเทศ และมียอดผู้ชมทั่วโลกสูงถึง 4.7 พันล้านคน ความขลังของเวทีโอลิมปิกเช่นนี้เอง ทำให้มันเป็นความใฝ่ฝันสูงสุดของนักกีฬาทุกคน ที่จะได้โอกาสแสดงความสามารถให้โลกได้ชื่นชม

     และนอกเหนือจากการพิชิตเหรียญรางวัลอันทรงเกียรติแล้ว สิ่งทียิ่งใหญ่และน่าประทับใจไม่แพ้กันคือการแสดงให้โลกเห็นถึงศักดิ์ศรีแห่งเลือดนักสู้ และน้ำใจของนักกีฬา รวมถึงการต่อสู้นอกสนาม ที่กว่าจะมาถึงวันแห่งชัยชนะแล้ว นักกีฬาทุกคนก็ต้องเจอบททดสอบจิตใจจากอุปสรรคต่างๆนานามาด้วยกันทั้งสิ้น

     ย้อนกลับไปเมื่อปี 1924 สองยอดลมกรดของทีมสหราชอาณาจักร ได้สร้างตำนานแห่งการพิสูจน์ตัวเองบนลู่วิ่งในโอลิมปิกฤดูร้อน ซึ่งจัดที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส สองวีรบุรุษแห่งแดนผู้ดีในครั้งนั้นมีนามว่า แฮโรลด์ อับราฮัมส์ เจ้าของเหรียญทองประเภท 100 เมตร กับ เอริค ลิดเดลล์ ผู้พิชิตเหรียญทองประเภท 400 เมตร

     57 ปีต่อมา ตำนานของยอดนักวิ่งทั้งสอง ได้ถูกถ่ายทอดเป็นภาพยนตร์ และกลายมาเป็นอีกหนึ่งตำนานของโลกเซลลูลอยด์ ด้วยเกียรติยศระดับรางวัลออสการ์ สาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยม ภายใต้ชื่อว่า Chariots of Fire

     ภาพยนตร์ที่มีชื่อภาษาไทยว่า "เกียรติยศแห่งชัยชนะ" เป็นผลงานกำกับของ ฮิวจ์ ฮัดสัน ผู้กำกับชาวอังกฤษ ที่เล่าเรื่องราวเกี่ยวกับแรงบันดาลใจของทั้ง อับราฮัมส์ และ ลิดเดลล์ ซึ่งต่างต้องการพิชิตโลกด้วยฝีเท้าของตน โดยไม่หวังเกียรติยศชื่อเสียงเงินทองใดๆ แต่ต้องการพิสูจน์ความสามารถของตัวเองให้โลกได้รับรู้ และจารึกชื่อว่าเป็นมนุษย์ที่เร็วที่สุดในยุคสมัยของตนเองไปตลอดกาล

     แฮโรลด์ อับราฮัมส์ (รับบทโดย เบน ครอสส์) นักวิ่งชาวอังกฤษเชื้อสายยิว ที่กำลังศักษาในคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยแคมบริดจ์ หวังที่จะใช้พรสวรรค์ส่วนตัวของเขาคือการวิ่งระยะสั้น ปลดแอกตัวเองจากกระแสเกลียดชังชาวยิว ที่กำลังลุกลามอยู่ทั่วยุโรปในช่วงนั้น ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่อยู่ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 1 และสงครามโลกครั้งที่ 2

     แม้จะต้องขัดแย้งกับผู้บริหารมหาวิทยาลัย เพราะการจ้างเทรนเนอร์มืออาชีพอย่าง แซม มุสซาบินี่ มาช่วยฝึกซ้อมเพื่อพิชิตโอลิมปิกนั้น ผิดธรรมเนียมปฏิบัติของนักกีฬาสมัครเล่นในยุคนั้น แต่ อับราฮัมส์ ก็ไม่สนใจ และมุ่งมั่นฝึกฝนต่อไป เพราะสำหรับเขาแล้ว การคว้าเหรียญทองโอลิมปิกนั้นไม่ใช่การทำเพื่อแสวงหาชื่อเสียง แต่ทำเพื่อที่จะพิสูจน์คุณค่าของคน ว่าอยู่ที่ความสามารถ และแรงอุตสาหะ หาใช่ชาติกำเนิดไม่

     ทางด้าน เอริค ลิดเดลล์ (เอียน ชาร์ลสัน) ยอดนักกีฬาจากสก็อตแลนด์ผู้เคร่งครัดในคริสตศาสนา ที่มีพรสวรรค์มากมายไม่ว่าจะเป็นคริกเกต, รักบี้ และที่ดีที่สุดคือการวิ่ง ซึ่งเขาเชื่อว่าเป็นพรสวรรค์ที่พระเจ้าประทานให้ และชัยชนะทุกครั้งของเขาคือการพิสูจน์ศรัทธาที่มีต่อพระผู้เป็นเจ้า

     แต่ ลิดเดลล์ เองก็ต้องฟันฝ่าอุปสรรคต่างๆนานาเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นความเคร่งครัดในศาสนาของทางครอบครัว ที่ไม่เห็นด้วยนักกับการทุ่มเทให้กับกีฬาของเขา รวมถึงความเคร่งครัดของเขาเอง ที่ยืนกรานจะไม่ลงแข่งในวันอาทิตย์ ซึ่งเป็นวันสปาโต ที่คริสต์ศาสนนิกชนต้องหยุดทำงานและเข้าโบสถ์เพื่อสวดมนต์ ซึ่งทำให้เขาต้องถอนตัวออกจากการวิ่ง 100 เมตรในโอลิมปิก 1924 เพราะแข่งตรงกับวันอาทิตย์นั่นเอง

     แต่ด้วยความมุ่งมั่นและศรัทธาในพรสวรรค์อันได้รับจากพระผู้เป็นเจ้า ทำให้ ลิดเดลล์ ลงแข่งวิ่ง 400 เมตรด้วยความมั่นใจ และสามารถคว้าเหรียญทองพร้อมทำลายสถิติโลกในเวลานั้นได้อย่างที่ไม่มีใครคาดคิดว่ายอดลมกรดสก็อตติชที่เก่งในทางระยะสั้นนั้น จะประสบความสำเร็จในการวิ่งระยะที่ยาวขึ้นถึง 4 เท่าตัวได้ถึงระดับนี้

     Chariots of Fire อาจจัดว่าเป็นภาพยนตร์เกี่ยวกับกีฬาโอลิมปิก แต่เนื้อแท้ของงานชิ้นนี้คือการนำเสนอเรื่องราวของการพิสูจน์ตน มากกว่าการเอาชนะคู่ต่อสู้ในเกมกีฬา ดังนั้นภาพยนตร์เรื่องนี้จึงว่าด้วยการเดินทางของตัวเอกสู่เป้าหมาย โดยที่ไม่มีอุปสรรคเป็นตัวร้ายที่คอยแย่งชิงชัยชนะ แต่อุปสรรคอยู่ในจิตใจของตัวเองที่จะอุทิศตนเพื่อสู้ให้ถึงที่สุดหรือไม่ ภาพของน้ำใจนักกีฬาจึงถูกถ่ายทอดออกมาได้อย่างสมบูรณ์แบบ เพราะไม่มีความเป็นศัตรูหรือคู่แข่งเลยในระหว่างนักวิ่งด้วยกัน

     ภาพยนตร์เรื่องนี้ยังมีฉากหลังที่ถ่ายทำอย่างประณีตสวยงามทั้งบรรยากาศในอังกฤษและสก็อตแลนด์ รวมถึงฉากการแข่งโอลิมปิก ที่เก็บรายละเอียดทุกอย่างของกีฬาแห่งมวลมนุษยชาติเมื่อเกือบ 100 ปีก่อนได้อย่างน่าประทับใจ เป็นบทบันทึกประวัติศาสตร์ที่ควรค่าแก่การศึกษาและจดจำ

     นอกจากนั้นแล้ว องค์ประกอบอีกอย่างที่กลายเป็นอมตะไปพร้อมกับตัวหนัง ก็คือดนตรีประกอบ ซึ่งเป็นผลงานของ แวนเจลิส นักประพันธ์ดนตรีชาวกรีก ซึ่งช่วยขับเน้นให้ตัวหนังทรงพลังด้วยความมุ่งมั่น และความศรัทธาในพรสวรรค์ของตัวละครออกมาได้อย่างสมบูรณ์แบบ

     สำหรับเกียรติยศสูงสุดของภาพยนตร์ชิ้นนี้ ก็คือการชนะรางวัล อคาเดมี อวอร์ดส์ (ออสการ์) ประจำปี 1981 ได้ถึง 4 สาขาด้วยกัน ได้แก่ ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม, ดนตรีประกอบยอดเยี่ยม, บทดั้งเดิมยอดเยี่ยม และออกแบบเครื่องแต่งกายยอดเยี่ยม รวมถึงยังเข้าชิงอีก 3 สาขา ได้แก่ ผู้กำกับยอดเยี่ยม, นักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยม (เอียน โฮล์ม ในบท มุสซาบินี่) และ ตัดต่อภาพยอดเยี่ยม

     Chariots of Fire จึงเป็นภาพยนตร์ที่แสดงภาพของกีฬาที่ยิ่งใหญ่กว่าการเอาชนะคู่แข่งในสนาม หรือ การแสวงหาชื่อเสียงเงินทอง แต่เป็นการพิสูจน์ความสามารถของตนเองให้โลกได้รับรู้ และการเอาชนะต่ออุปสรรคต่างๆนานาเพื่อจุดหมายที่ใฝ่ฝันนั้น คือเกียรติยศแห่งชัยชนะอันแท้จริง

     นี่คือภาพยนตร์เกี่ยวกับกีฬาโอลิมปิก ที่มีเนื้อหามากกว่าการกีฬา และมีคุณค่ามากกว่าเป็นแค่ภาพยนตร์เพื่อความบันเทิงเท่านั้น แต่เป็นงานที่สร้างแรงบันดาลใจให้ทุกคนที่ได้รับชม และเป็นบทบันทึกประวัติศาสตร์ชิ้นเยี่ยม ที่ไม่มีวันเลือนหายไปกับกาลเวลา คงอยู่เป็นมรดกบนแผ่นฟิล์มไปตราบนานเท่านาน

*****