วันเสาร์ที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2551

To Live and Die in L.A. (1985)


To Live and Die in L.A. (1985), ปราบตาย (๒๕๒๘)

     หากกล่าวถึงผู้กำกับที่เก่งกาจในการสร้างสรรค์ภาพยนตร์แนวดราม่าอาชญากรรม-ตำรวจจับผู้ร้าย หนึ่งในจำนวนนั้นก็ควรมีชื่อของ วิลเลียม ฟรีดกิ้น อยู่ด้วย แม้ว่าภาพยนตร์ที่ถูกกล่าวขวัญถึงมากที่สุดของผู้กำกับท่านนี้จะเป็นหนังสยองขวัญระดับตำนานอย่าง The Exorcist (พ.ศ. ๒๕๑๖) แต่ผลงานที่ทำให้เขากลายเป็นยอดผู้กำกับหนังอาชญากรรม คือ The French Connection ภาพยนตร์ที่ออกฉายในปี พ.ศ. ๒๕๑๔ ซึ่งคว้ารางวัลออสการ์ได้ถึง ๕ สาขา โดยกวาด ๓ รางวัลใหญ่อย่างภาพยนตร์ยอดเยี่ยม, ผู้กำกับยอดเยี่ยม และนักแสดงนำชายยอดเยี่ยมที่ส่งให้ ยีน แฮคแมน ขึ้นแท่นเป็นดาราคุณภาพแถวหน้าของฮอลลีวูดมาจนถึงยุคปัจจุบัน และหลังจากนั้น ๑๔ ปี ฟรีดกิ้น ก็หวนคืนสู่การทำหนังแนวแอ็คชั่นอาชญากรรมอีกครั้ง คราวนี้คือผลงานที่มีชื่อว่า To Live and Die in L.A.

     To Live and Die in L.A. มีความใกล้เคียงและคล้ายคลึงกับ The French Connection ในหลายส่วนจนเรียกได้ว่าคงไม่ผิดนักหากจะกล่าวว่า "ปราบตาย" เป็นน้องแท้ๆของ "มือปราบเพชรตัดเพชร" เพราะต่างก็เป็นเรื่องของตำรวจคู่หูที่ออกล่าอาชญากรตัวฉกาจ และตัวละครเอกของเรื่องก็ต่างมีลักษณะ Anti-hero เหมือนกัน คือไม่ใช่พระเอกในอุดมคติ แต่เป็นบุคคลธรรมดาที่มีดีชั่วพอกัน (โดยเฉพาะ L.A. ที่ผู้เขียนเห็นด้านชั่วในตัวเอกมากกว่าด้านดีด้วยซ้ำ) ใช้อารมณ์เหนือเหตุผลให้เห็นบ่อยครั้ง และที่ขาดไม่ได้คือฉากขับรถไล่ล่าอันสุดระทึกใจ ซึ่งเป็นจุดไคลแม็กซ์ที่ฟรีดกิ้นนำมาตอกย้ำความมันส์อีกครั้ง หลังจากที่เคยทำเอาผู้ชมลุ้นจนลืมหายใจมาแล้วในทศวรรษก่อนหน้า

     "ปราบตาย" เป็นเรื่องราวของ ริชาร์ด แชนซ์ (วิลเลี่ยม แอล พีเดอร์เซ่น) ตำรวจสืบราชการลับจอมบ้าระห่ำ ที่ออกไล่ล่า ริค มาสเตอร์ส (วิลเลม ดาโฟ) นักพิมพ์แบงค์ปลอมผู้มีส่วนในการสังหารโหดอดีตคู่หูของเขา โดยมี จอห์น วูโควิช (จอห์น แพนโคว์) ตำรวจอ่อนประสบการณ์มาเป็นคู่หูคนใหม่ในภารกิจนี้ ยิ่งนานเข้า แชนซ์ ก็ยิ่งห่างไกลจากการจับฆาตกรรายนี้มาลงโทษให้ได้เสียทีเนื่องด้วยระบบการทำงานอันย่ำแย่ที่ไม่มีประสิทธิภาพพอที่จะลากตัวอาชญากรตัวเอ้มาเข้าชังเต บวกกับความแค้นที่สุมอยู่จนเต็มอก ทำให้"ผู้พิทักษ์สันติราษฎร์" รายนี้ พร้อมที่จะเล่นนอกกฎเกณฑ์ทุกประการอย่างไม่สนใจความผิดชอบชั่วดี เพื่อลากคอวายร้ายจอมอำมหิตรายนี้มาลงโทษให้ได้ ต่อให้ต้องรับบทผู้ร้ายเสียเองก็ตาม

     ฉากขับรถไล่ล่าอันเป็นจุดไคลแม็กซ์ที่ ฟรีดกิ้น นำกลับมาใช้อีกครั้งตามที่ได้กล่าวถึงไปแล้ว อาจเรียกได้ว่าเป็นหนึ่งในฉากขับรถไล่ล่าที่น่าตื่นเต้นมากที่สุดบนแผ่นฟิล์ม เพราะนอกจากจะกินเวลานานร่วม 10 นาทีแล้ว ก็ยังเพิ่มอุปสรรคเป็นดงกระสุนของเหล่า Antagonists จำนวนมากที่ดาหน้ากันเข้ามาไล่ถล่มพาหนะของสองตัวเอกอย่างน่าตกตะลึง นอกจากนั้นแล้วยังนำเอาเทคนิคที่เคยประสบความสำเร็จในภาพยนตร์สยองขวัญ มาปรับใช้เพื่อสร้างความน่ากลัวให้กับตัวละคร ริค มาสเตอร์ ซึ่งเมื่อผนวกเข้ากับการแสดงของดารายอดฝีมืออย่าง วิลเลม ดาโฟ แล้ว ผลที่ได้คือความน่าสะพรึงที่ติดอยู่ในความทรงจำของผู้ชมแม้จะเสร็จสิ้นจากการรับชมไปแล้วก็ตาม

     องค์ประกอบอื่นๆที่น่าจดจำในภาพยนตร์บู๊ระทึกขวัญเรื่องนี้ ก็ยังมีฉากพิมพ์ธนบัตรปลอมที่นำเสนอให้ชมกันแบบทีละขั้นตอนตั้งแต่ทำแม่พิมพ์จนถึงกระบวนการทำธนบัตรให้ดูเก่าเลยทีเดียว เรียกได้ว่าหากผู้ชมท่านใดมีอุปกรณ์และฝีมือพร้อมก็สามารถทำตามได้เลย (แต่ไม่แนะนำนะครับเพราะผิดกฎหมาย) รวมถึงดนตรีประกอบเร้าอารมณ์ด้วยจังหวะรัวกลองพริ้วไหวหนักแน่นตามสไตล์ป๊อบร็อคแห่งยุค 80 โดยฝีมือของ Wang Chung วงดนตรีจากอังกฤษ ซึ่งฟรีดกิ้นมอบหมายให้เข้ามาทำเพลงประกอบงานชิ้นนี้โดยเฉพาะ

     อย่างไรก็ดี To Live and Die in L.A. กลับไม่ได้รับเสียงตอบรับที่ดีจากผู้ชมนักเมื่อเปิดตัว ทั้งที่มีคุณภาพเข้าขั้นเป็นหนึ่งในผลงานชิ้นโบว์แดงของผู้กำกับมือฉมังรายนี้ ซึ่งสาเหตุเป็นเพราะมีฉากจบที่เหนือความคาดหมายและน่าตกตะลึง ซึ่งแม้ทางสตูดิโอผู้ออกทุนจะได้ขอให้ ฟรีดกิ้น เปลี่ยนตอนจบ และเขาเองก็ได้ถ่ายทำตอนจบแบบใหม่เรียบร้อยแล้ว แต่เมื่อเอามาประกอบดูแล้วพบว่าไม่ใช่คำตอบที่ถูกต้องสำหรับงานชิ้นนี้ จึงต้องจบอย่าง "ไม่เอาใจคนดู" ไปในที่สุด ซึ่งจนถึงปัจจุบันก็มีภาพยนตร์น้อยเรื่องมากที่กล้าสรุปเรื่องเช่นเดียวกับที่ ฟรีดกิ้น ได้ทำไว้

     ความกล้าหาญของฟรีดกิ้น ที่นำเสนอภาพยนตร์แบบในที่ไม่มีใครกล้าทำมาก่อน (หรือถ้ามีก็น้อยมาก) นี้เอง ที่ทำให้ "ปราบตาย" กลายเป็นชิ้นงานที่อยู่เหนือกาลเวลา เพราะยังคงความสดใหม่สำหรับผู้ชมอีกหลายรายซึ่งยังไม่เคยได้สัมผัสกับบทที่ไม่ตามสูตรและไม่เอาใจคนดูเช่นนี้ เนื้อหาของตัวหนังอาจไม่เป็นมิตรต่อผู้ชมที่คุ้นเคยกับสูตร "ธรรมะสู้อธรรม" แต่ก็ถือว่าเป็นประสบการณ์ที่หาได้ยากยิ่งในการรับชมภาพยนตร์สักเรื่อง โดยเฉพาะจากฝั่งฮอลลีวูดเช่นนี้

วันอาทิตย์ที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2551

The Fall (2006)


The Fall (2006), พลังฝันภวังค์รัก (๒๕๔๙)


งานกำกับภาพยนตร์ชิ้นที่สองของ ทาร์เซ็ม ซิงห์ ผู้กำกับชาวอินเดียที่เคยสร้างชื่อมากับองค์ประกอบศิลป์สุดอลังการในงานชิ้นแรกของเขา The Cell เมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๓ โดยคราวนี้ทาร์เซ็ม ก็ยังพกพาจุดขายอันโดดเด่นของเขามามอบให้แก่ผู้ชมอีกครั้งหนึ่ง และน่าจะเรียกได้ว่าน่าประทับใจมากกว่าเดิมเสียอีก โดย The Fall เป็นภาพยนตร์ที่ออกฉายครั้งแรกในปี พ.ศ. ๒๕๔๙ แต่เพิ่งเปิดตัวในตลาดใหญ่อย่างสหรัฐอเมริกาในวันที่ ๙ พฤษภาคม ๒๕๕๑ และเข้าฉายในบ้านเราเมื่อ ๒๕ กันยายน ๒๕๕๑ ซึ่งก็ต้องขอบคุณเครือเอเพ็กซ์มา ณ ที่นี้ด้วยที่นำหนังนอกกระแสดีๆมาให้นักดูหนังชาวไทยได้สัมผัสอยู่เสมอมา ซึ่งรวมถึงภาพยนตร์เรื่องนี้ด้วยเช่นกัน

ตัวหนังใช้โรงพยาบาลแห่งหนึ่งในลอส แอนเจลิส ช่วงปี ค.ศ. 1920 เป็นฉากหลัง โดยตัวละครเอกเป็นเด็กหญิงเชื้อสายอินเดียชื่อ อเล็กซานเดรีย ซึ่งเป็นผู้ป่วยที่เข้าพักรักษาอาการบาดเจ็บที่เธอได้รับจากการพลัดตกลงมาจากต้นส้มขณะกำลังช่วยแม่เก็บผล วันหนึ่งอเล็กซานเดรียได้พบกับ รอย วอล์คเกอร์ สตั๊นท์แมนหนุ่มที่เข้าพักรักษาตัวเพราะประสบอุบัติเหตุระหว่างถ่ายทำจนขาหัก ทั้งสองได้ทำความรู้จักกันผ่านนิทานของรอย ซึ่งได้สร้างโลกใบใหม่และเพื่อนอีกมากมายในจินตนาการของเด็กน้อย (ซึ่งเธอนำเอาบุคคลที่พบเจอในชีวิตจริงมารับบทเป็นตัวละครแต่ละตัว) ทั้งสองออกผจญภัยผ่านเทพนิยายอันสนุกสนานของวัยเยาว์ และโลกแห่งความเป็นจริงอันมืดหม่นของผู้ใหญ่ไปด้วยกัน จนกระทั่งได้เรียนรู้ในท้ายที่สุดว่า ไม่ว่าชีวิตจะตกต่ำหรือดูด้อยค่าเพียงใด มนุษย์ทุกคนก็ยังคงมีความสำคัญในสายตาของใครบางคนอยู่เสมอ 


The Fall น่าจะเรียกได้ว่าเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของทาร์เซ็มในอาชีพผู้กำกับภาพยนตร์ เนื่องจากได้รับคำชื่นชมอย่างล้นหลามจากผู้ชมทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นฉากในจินตนาการของอเล็กซานเดรีย ที่สวยงามและอลังการตามมาตรฐานที่เขาเคยทำได้มาแล้วใน The Cell แต่ที่สำคัญคือยังมีบทชีวิตจริงที่สามารถสะกดผู้ชมให้ติดตามเอาใจช่วยตัวละครในการเผชิญปัญหาชีวิตได้ไม่แพ้ความตื่นเต้นของการผจญภัยในโลกแห่งความฝัน จุดนี้เองที่ทาร์เซ็มทำได้ดีกว่างานชิ้นแรกของเขาอย่างน่าชื่นชม ทีมนักแสดงต่างก็ทำหน้าที่ได้เป็นอย่างดีและช่วยทำให้ผู้ชมเกิดความรักในตัวละคร โดยเฉพาะคาทินคา อุนรานู นักแสดงเด็กชาวโรมาเนียนที่มีอายุเพียง 8 ขวบเท่านั้นในขณะถ่ายทำภาพยนตร์ (เกิดปีค.ศ. 1997) ซึ่งสามารถแสดงได้อย่างน่ารักและเป็นธรรมชาติจนผู้เขียนเองแทบไม่เชื่อว่ากำลังรับชม "การแสดง" อยู่ในขณะที่ภาพยนตร์กำลังฉาย

ตัวหนังอาจมีจุดด้อยอยู่ในช่วงท้าย ที่จำเป็นต้องเดินเรื่องเข้าสู่ไคลแม็กซ์สุดท้ายซึ่งว่าด้วยความหม่นเศร้าและสับสนในจิตใจของตัวละคร มีการเล่าเรื่องที่รวบรัดรวดเร็วจนผิดจากอารมณ์แช่มช้าที่ปูมาเกือบตลอดเรื่องไปไม่น้อย อีกทั้งยังมีฉากที่ทำร้ายจิตใจของผู้ชมอยู่มากจนเกือบจะเกินพอดี อย่างไรก็ตาม ความรู้สึกทรมานในใจที่ผู้ชมได้รับนั้น ก็เกิดมาจากความผูกพันที่มีต่อตัวละคร และการเข้าถึงสภาพจิตใจของตัวละครเช่นกัน ซึ่งก็นับว่าผู้สร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ประสบความสำเร็จอย่างยิ่งในการสะกดผู้ชมจนเรียกได้ว่า "อยู่หมัด" ส่วนฉากจบของเรื่องนั้น ส่วนตัวผู้เขียนคิดว่าค่อนข้างด้อยซึ่งพลังในการทิ้งท้ายให้น่าประทับใจ แม้สารที่แฝงมาจะช่วยเติมเต็มเนื้อเรื่องได้ดีแล้วก็ตาม

โดยรวมแล้ว The Fall เป็นภาพยนตร์ที่คนรักหนังควรได้รับชม เนื่องจากมีองค์ประกอบหลักๆที่ดีพร้อมไม่ว่าจะเป็นการแสดง, บทภาพยนตร์, การถ่ายภาพ, องค์ประกอบศิลป์ และแง่คิดที่สำคัญในการดำเนินชีวิต นอกจากนั้นแล้วยังยิงคำถามถึงผู้ชมทุกคน ว่ายังคงมี "ธาตุเด็ก" ของอเล็กซานเดรียหลงเหลืออยู่ในความรู้สึกมากน้อยเพียงใด หรือปล่อยให้ภาระหน้าที่และความคาดหวังในชีวิต เข้าเกาะกุมจิตใจ จนกลายเป็นผู้ใหญ่ที่เศร้าหมองอย่างรอยไปเสียแล้ว

วันพุธที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2551

Platoon (1986)


Platoon (1986), พลาทูน (๒๕๒๙)

"The First Casualty of War is Innocence."
"ความไร้เดียงสาคือสิ่งแรกที่จักสูญเสียในสงคราม"

ผลงานการกำกับภาพยนตร์ลำดับที่ 5 ของ โอลิเวอร์ สโตน หนึ่งในผู้กำกับมือทองของฮอลลีวูด ซึ่งก่อนหน้านี้เคยคว้ารางวัลออสการ์สาขาบทภาพยนตร์ดัดแปลงยอดเยี่ยมจาก Midnight Express ในปี 1978 โดย สโตน เคยรบในสงครามเวียดนามมาแล้วในช่วงเดือนเมษายน 1967 ถึงพฤศจิกายน 1968 ทำให้ Platoon ถูกถ่ายทอดออกมาจากประสบการณ์ของทหารผ่านศึกตัวจริงเสียงจริง

Platoon เริ่มต้นด้วยการมาถึงของเหล่าทหารหนุ่มอันไร้เดียงสา ซึ่งถูกส่งมาเพื่อหมุนเวียนกับรุ่นเก่าที่ประจำการครบกำหนด 1 ปี และภาพที่ทำให้พวกหน้าใหม่ต้องตกตะลึงตั้งแต่ก้าวลงจากเครื่องบินลำเลียงพล คือสภาพของผู้ที่สวนทางกลับออกไปจากสมรภูมิ โดยส่วนใหญ่เป็นร่างไร้วิญญาณบรรจุอยู่ในถุงดำ ที่รอดชีวิตมาได้แม้ร่างกายภายนอกจะอยู่ครบ แต่ในแววตานั้นต่างจากเหล่าเด็กใหม่ราวกับเป็นสิ่งมีชีวิตคนละเผ่าพันธุ์กัน

พลทหาร คริส เทย์เลอร์ (ชาร์ลี ชีน) คือเด็กหนุ่มผู้มีอุดมการณ์และความฝันอยู่นอกตำราเรียน ลาออกจากมหาวิทยาลัยเพื่อสมัครเป็นทหารร่วมรบ ณ ดินแดนอันไกลโพ้นสุดขอบโลกอย่างเวียดนาม (ซึ่งตรงกับชีวิตจริงของ ผกก. สโตน ที่ดร็อปจากมหาวิทยาลัยเยลเพื่อออกมาเรียนรู้โลกนอกระบบการศึกษา) แตกต่างกันโดยสิ้นเชิงกับทหารรายอื่นๆที่มาเพราะความยากจนทำให้ไม่มีทางเลือกนอกจากมาเสี่ยงตายเอาดาบหน้า เพื่อเป็นหมากในต่อสู้บน"ความขัดแย้งทางการเมือง"ที่พวกเขาไม่มีส่วนรู้เห็นกับจุดกำเนิดของมันแม้แต่นิดเดียวด้วยซ้ำ

เอาเข้าจริงการต่อสู้ที่ คริส ได้ประสบพบเจอเป็นหลัก กลับกลายเป็นความขัดแย้งภายในกองร้อยตัวเอง ระหว่างจ่าบาร์น (ทอม เบเรนเกอร์) กับจ่าเอไลแอส (วิลเลม ดาโฟ) ซึ่งโดยปกติก็ดำเนินชีวิตกันไปคนละทาง โดยจ่าบาร์นปล่อยให้ตัวเองถลำลึกเข้าสู่ก้นบึ้งอันมืดมิดของสงคราม กลายเป็นบุคคลอันตรายที่พร้อมทำลายทุกชีวิตที่ขวางทางเขา ขณะที่จ่าเอไลแอสเลือกที่จะหลีกหนีภาพติดตาของสงครามด้วยการพึ่งกัญชาและดนตรีรื่นเริงตามแบบฉบับของบุปผาชน (ซึ่งบาร์นมองว่าเป็นความขี้ขลาดไม่กล้าเผชิญความจริง) จนมีการแบ่งพวกแบ่งพรรค และเมื่อความตึงเครียดของสงครามขมวดเกลียวมากขึ้น พลอยทำให้ความสัมพันธ์ของนายทหารทั้งสองถึงจุดแตกหัก ส่งผลให้กองร้อยทั้งกองพ่ายแพ้ยับเยินเพราะผู้บัญชาการร่วมงานกันไม่ได้ และแม้ในตอนจบของเรื่องนั้น คริส จะรอดชีวิตและไม่ได้รับบาดเจ็บทางกายร้ายแรง แต่แววตาที่เปลี่ยนไปบ่งบอกถึงสภาพจิตใจที่บอบช้ำจากสงคราม และกลายเป็นแววตาเดียวกันกับทหารรุ่นพี่ที่สวนทางกับเขาเมื่อวันแรกที่ก้าวลงจากเครื่องบินลำเลียงพล ราวกับพลทหารคริสผู้ไร้เดียงสานั้นได้ตายไปในสงครามแล้ว


แม้ว่าตอนเข้าฉายใหม่ๆนั้น Platoon จะถูกค่อนขอดว่าใส่เนื้อหาที่รุนแรงเข้ามามากจนเกินไป (โดยเฉพาะฉากทำลายหมู่บ้านชาวเวียดนาม ซึ่งมีภาพของเด็กถูกปืนจ่อที่ศีรษะ และทหารพยายามข่มขืนเด็ก) แต่สุดท้ายก็กลายเป็นความสำเร็จครั้งใหญ่ของ สโตน เมื่อตัวหนังเช้าชิงถึง 8 รางวัลออสการ์ และสามารถคว้ามาได้ 4 รางวัล ได้แก่ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม, ผู้กำกับยอดเยี่ยม (เป็นออสการ์ตัวที่ 2 ของสโตน และตัวแรกในสาขานี้ ก่อนที่เขาจะกลับมาคว้ารางวัลนี้อีกใน 3 ปีให้หลังกับ Born on the 4th of July) , ตัดต่อยอดเยี่ยม และบันทึกเสียงยอดเยี่ยม ส่วนที่พลาดไปได้แก่ นักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยม (ทอม เบเรนเกอร์ กับ วิลเลม ดาโฟ เข้าชิงทั้งคู่), ถ่ายภาพยอดเยี่ยม และบทภาพยนตร์ดั้งเดิมยอดเยี่ยม

มีการนำ Platoon ไปเปรียบเทียบกับ Apocalypse Now (1979) ว่าเรื่องไหนเป็นภาพยนตร์สงครามเวียดนามที่ดีกว่ากัน เนื่องจากต่างกล่าวถึงความโหดเหี้ยมของสงครามที่แปรเปลี่ยนมนุษย์ให้มีจิตใจดำมืดลงไป ต่างนำเสนอภาพของทหารอเมริกันที่คุกคามชาวพื้นเมืองด้วยเหตุผลส่วนตัว (ต้องการระบายอารมณ์ กับ หาสถานที่เล่นกีฬา) และชี้ให้เห็นสาเหตุแห่งความพ่ายแพ้อย่างย่อยยับของสหรัฐฯ ในสงครามครั้งนี้

สำหรับผมแล้วไม่อาจบอกได้ว่าเรื่องไหนดีไปกว่ากัน เพราะต่างมีดีกันไปคนละอย่าง Platoon นั้นสามารถแสดงถึงความโหดของสงครามมากกว่า (โดยเฉพาะฉากรบครั้งสุดท้ายของเรื่องที่น่ากลัวมาก) ส่วน Apocalypse Now เป็นเสมือนภาพเขียนจากหัวใจอันมืดมิดของทหารที่จมดิ่งลงไปในความสยดสยองของสงคราม ส่วนตัวผมคิดว่าภาพยนตร์สองเรื่องนี้ไม่ใช่คู่แข่งกัน แต่เป็นเสมือนส่วนเติมเต็ม เรื่องหนึ่งสามารถอธิบายอีกเรื่องหนึ่งได้เป็นอย่างดี

Platoon จัดเป็นภาพยนตร์ที่ผู้ต้องการศึกษาถึงความเหี้ยมโหดของสมรภูมิควรได้รับชม แล้วจะเข้าใจว่า สงครามไม่ใช่เรื่องที่ "มันส์" เลยแม้แต่นิดเดียว ด้วยองค์ประกอบที่สมจริง บทภาพยนตร์ที่ทำให้ผู้ชมต้องตกตะลึง และการแสดงที่ทรงพลัง (มีดาราดังในปัจจุบันซึ่งตอนนั้นยังไร้ชื่อเสียงอย่าง ฟอเรสต์ วิเทเกอร์ กับ จอห์นนี่ เดปป์ มาร่วมสมทบด้วย) ทำให้มันเป็นเสมือนบทบันทึกประวัติศาสตร์อันทรงคุณค่า และหากได้ผ่านตาแม้เพียงครั้งก็ยากที่จะลืมเลือน